สรรค์สร้างเทคโนโลยี และนวัตกรรมสำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคม
เพื่อรองรับการพัฒนาสู่เครือข่ายแห่งอนาคตบนมาตรฐานไอพี
การเสนอบริการเชื่อมโยงเครือข่าย เคยเป็นหัวใจหลักของธุรกิจ สื่อสารโทรคมนาคมในอดีต แต่ทว่าในปัจจุบัน ผู้ให้บริการในทุกตลาดจำเป็น ที่จะต้องมองไปข้างหน้า เพื่อนำเสนอบริการใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มรายได้ สร้างจุดขายที่แตกต่าง และเพิ่มความจงรักภักดีของลูกค้า ผู้ให้บริการโทรคมนาคมได้ปรับใช้แนวทาง ที่มุ่งเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพ เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Operating Expenses - OpEx) และค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Capital Expenditures - CapEx) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไร และในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงนี้ ผู้ให้บริการจำเป็น ที่จะต้องเพิ่มอำนาจ ในการควบคุมระบบเครือข่าย และบริการต่างๆ ที่รันอยู่บนเครือข่ายเพื่อให้สามารถควบคุมธุรกิจ ได้อย่างดียิ่งขึ้น ในสภาวะตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลง อยู่ตลอดเวลา
ผู้ให้บริการเครือข่ายต้องการโซลูชั่นที่ยืดหยุ่น เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการ เฉพาะทางของลูกค้า ได้ด้วยต้นทุนที่ประหยัด และเข้าถึงโอกาสทางด้านธุรกิจในกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายพร้อมๆ กันไปด้วย ทั้งในกลุ่มผู้ใช้ทั่วไป องค์กรธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม องค์กรขนาดใหญ่ และลูกค้าประเภทค้าส่ง ตัวอย่างเช่น ในตลาดผู้ใช้ทั่วไป ธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างสดใสก็คือ เกม, การบันทึกภาพวิดีโอบนเครือข่าย, video on demand (VoD), เครือข่าย Wi-Fi และบริการไร้สาย ส่วนธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมก็มีแนวโน้ม ที่จะสนใจ และใช้บริการเอาต์ซอร์ส เช่น บริการโฮสติ้ง และบริการรักษาความปลอดภัย ในขณะเดียวกัน องค์กรขนาดใหญ่ จะมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นสำหรับ virtual private network (VPN) ในเลเยอร์ 2 และ 3, การเข้าถึงระยะไกล (remote access), การจัดเก็บข้อมูล, การรักษาความปลอดภัย และอีเธอร์เน็ต ส่วนผู้ให้บริการโทรคมนาคม จะพยายามแสวงหารายได้ จากการค้าส่งระบบแอ็กเซส, โทรศัพท์ในพื้นที่ และโทรศัพท์ทางไกล และบริการต่างๆ เช่น การจัดหาพื้นที่สำหรับติดตั้งอุปกรณ์, การเชื่อมต่อระหว่างเครือข่าย, การถ่ายโอนข้อมูล และการนำเสนอคอนเทนต์
ดังนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของตลาดเหล่านี้ ผู้ให้บริการจึงจำเป็นต้องใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ที่สามารถพัฒนาเพื่อรองรับบริการใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ และความจงรักภักดีของลูกค้า และปรับปรุงประสิทธิภาพ ในด้านเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Operating Expenses - OpEx) และค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Capital Expenditures - CapEx) โดยทั่วไปแล้ววงการอุตสาหกรรม จะเรียกโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตนี้ว่า เครือข่ายแห่งอนาคต (next-generation network - NGN) ซึ่งทุกฝ่ายล้วนมีความเห็นตรงกันว่า ไอพี (IP) จะเป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน สำหรับเครือข่ายดังกล่าว
อย่างไรก็ตามหลายๆ ฝ่ายในอุตสาหกรรม ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า NGN ไว้อย่างแคบๆ โดยครอบคลุมเฉพาะส่วนเล็กๆ ของการปรับเปลี่ยนที่จำเป็นสำหรับผู้ให้บริการ แต่ซิสโก้จะมองในมุม ที่กว้างขวางรอบด้านมากกว่า นั่นคือ NGN บนมาตรฐานไอพี จะครอบคลุมปัญหาต่างๆ ที่ผู้ให้บริการจำเป็นต้องแก้ไข โดยเราเชื่อว่า IP NGN จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเครือข่ายใน วงกว้าง ซึ่งไม่ได้มีผลเฉพาะ ตัวระบบเครือข่ายของผู้ให้บริการเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงโครงสร้างการดำเนินธุรกิจทั้งหมด
นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงเครือข่ายนี้ ยังไม่ได้มีจุดจบอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง อย่างตายตัว กล่าวคือ IP NGN เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในลักษณะเดียวกับแผนงานทางด้านธุรกิจ และบริการของผู้ให้บริการนั่นเอง ทั้งนี้ เครือข่ายดังกล่าว ต้องสามารถรองรับการปรับเปลี่ยน ให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้า และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อยู่เสมอ ดังนั้น “IP NGN” หมายถึง เครือข่ายที่นอกจากจะนำเสนอ และจัดการกับทางเลือกทั้งหมด ที่มีอยู่ในปัจจุบันสำหรับการสื่อสารด้านเสียง วิดีโอ และข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังต้องสามารถขยาย และปรับตัวให้รองรับทางเลือกทางด้านการสื่อสารใหม่ๆ ที่ย่อมได้รับการพัฒนา และวิวัฒนาการต่อไปในอนาคตได้ดีอีกด้วย
สำหรับผู้ให้บริการหลายรายได้พัฒนาสู่เครือข่าย IP NGN กันบ้างแล้ว ถึงแม้ว่าจะใช้คำศัพท์ ที่ต่างออกไปสำหรับ NGN แต่โดยทั่วไปแล้วผู้ให้บริการจะใช้แนวคิดพื้นฐานเดียวกัน ในวิสัยทัศน์เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ในอนาคตของผู้ให้บริการโทรคมนาคม ตัวอย่างเช่น AT&T กำลังพัฒนา NGN ภายใต้โครงการ “Concept of One, Concept of Zero” ในขณะที่ British Telecom เรียก NGN ว่า “เครือข่ายสำหรับศตวรรษที่ 21” ทั้งนี้ผู้ให้บริการแต่ละรายจะพัฒนาไป สู่เครือข่าย IP NGN ตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับความต้องการ ทางด้านธุรกิจและกฎระเบียบ
การพัฒนาเครือข่าย IP NGN เป็นระยะๆ เกี่ยวข้องกับการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ชาญฉลาด สำหรับรองรับการนำเสนอบริการ ที่สัมพันธ์กับแอพพลิเคชั่นบนเครือข่าย ที่สามารถรับรู้แยกแยะการทำงานของบริการ แต่ละประเภทได้ เครือข่าย IP NGN แบบชาญฉลาดนี้จะเปิดโอกาสใหม่ๆ สำหรับผู้ให้บริการในการนำเสนอบริการขั้นสูง ที่รองรับสื่อต่างๆ ทั้งหมดให้แก่ลูกค้า โดยผ่านการเชื่อมต่อแบบใช้สาย และไร้สายที่ปลอดภัยและกลมกลืน
การผนวกรวมคือหัวใจสำคัญของ IP NGN
สำหรับเครือข่าย IP NGN ประกอบด้วยการผนวกรวม (Convergence) พื้นฐานใน 3 ส่วน สำหรับผู้ให้บริการในปัจจุบัน:
■ การผนวกรวมแอพพลิเคชั่น—การผนวกรวมบริการใหม่ๆ ทางด้านข้อมูล เสียง และวิดีโอ บนโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์เดียวกัน
■ การผนวกรวมบริการ—ผู้ให้บริการกำลังพัฒนาไปสู่การนำเสนอ “Triple Play ทุกที่ทุกเวลา” ซึ่งผนวกรวมบริการด้านเสียง วิดีโอ ข้อมูล และบริการไร้สายเข้าด้วยกัน การผนวกรวมบริการดังกล่าว จะครอบคลุมการเข้าถึง และควบคุมเครือข่ายที่สามารถรองรับเทคโนโลยีที่หลากหลาย และทำงานร่วมกับสื่อเครือข่ายใดๆ ได้อย่างกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นโมบายล์, ไวร์เลส, เคเบิล, DSL หรืออีเธอร์เน็ต
■ การผนวกรวมเครือข่าย—ผู้ให้บริการกำลังพัฒนาจากแนวทางการติดตั้ง จัดการ และดูแลรักษาหลายๆ เครือข่ายที่รองรับแต่ละบริการ ไปสู่แนวทางการนำเสนอบริการทั้งหมด บนเครือข่ายเดียวกัน ซึ่งโดยมากเป็นเครือข่ายบนมาตรฐาน IP Multiprotocol Label Switching (IP MPLS)
แน่นอนว่าผู้ให้บริการแต่ละรายจะจัดลำดับความสำคัญของการผนวกรวมเหล่านี้ในลักษณะที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะธุรกิจของตน ตัวอย่างเช่น ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมุ่งเน้นการผนวกรวมบริการ ในขณะที่ผู้ให้บริการเคเบิลจะมุ่งเน้นการผนวกรวมแอพพลิเคชั่นเป็นหลัก ส่วนวิสัยทัศน์และสถาปัตยกรรมทางด้าน IP NGN ของซิสโก้ จะรองรับการผนวกรวมหลักๆ ทั้ง 3 ส่วน (ดูภาพประกอบ) ผู้ให้บริการทั่วโลกกำลังสร้างเครือข่าย ที่ช่วยขยายช่องทางรายได้ ไม่ใช่เพียงแค่รองรับการถ่ายโอนข้อมูลเท่านั้น สถาปัตยกรรม และวิสัยทัศน์เกี่ยวกับ IP NGN ของซิสโก้ จะช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถสร้างรายได้ จากบริการใหม่ๆ ที่มุ่งเน้นการนำเสนอ ประสบการณ์ด้านเครือข่าย ที่เป็นมากกว่าการเชื่อมต่อ และการถ่ายโอน แต่รวมถึงการเชื่อมโยงแอพพลิเคชั่น และเครือข่ายเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการให้บริการ ด้านโทรคมนาคม
ส่วนผลงานการพัฒนาล่าสุดของซิสโก้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับ เลเยอร์การควบคุมบริการ (Service Control Layer) และเลเยอร์เครือข่ายที่ปลอดภัย (Secure Network Layer) นับเป็นเครื่องตอกย้ำ ถึงความมุ่งมั่นของซิสโก้ในการสร้าง จัดหา และร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี และโซลูชั่นที่ช่วยให้ผู้ให้บริการ สามารถปรับเปลี่ยนเครือข่าย ที่มีอยู่ให้กลายเป็นเครือข่าย IP NGN ที่ช่วยสร้างผลกำไรให้กับธุรกิจ
IP NGN ของซิสโก้: เลเยอร์การควบคุมบริการ (Service Control Layer)
ดังนั้นเพื่อให้สามารถผนวกรวมบริการได้อย่างแท้จริง บริษัทจะต้องควบคุม จัดทำบิล และบริหารจัดการบริการ บนสื่อสำหรับการเข้าถึงที่มีอยู่ หลากหลายประเภทได้ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ซิสโก้และพันธมิตรทางด้านเทคโนโลยี จึงได้ร่วมกันพัฒนา และปรับปรุงกรอบโครงสร้าง สำหรับการแลกเปลี่ยนบริการ (Service Exchange Framework) แบบเปิดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ให้บริการ สามารถเพิ่มความสะดวก และควบคุมการเชื่อมต่อของลูกค้า เพื่อใช้บริการไอพีผ่านเครือข่าย แบบใช้สาย และแบบไร้สายได้ โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องประเภทของแอพพลิเคชั่น ที่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป
นอกจากนี้ Cisco Service Control Application Suite ซึ่งรันบนเอ็นจิ้นสำหรับการควบคุมบริการ ประกอบด้วยโปรแกรมซอฟต์แวร์ 3 โปรแกรม ได้แก่ Service Control Application สำหรับการตรวจสอบบริการของผู้ใช้, Cisco Collection Manager สำหรับการเรียกดู และรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบริการ และ Cisco Subscriber Manager สำหรับการกำหนดบัญชี และควบคุม แทรฟฟิกของผู้ใช้แต่ละราย
องค์ประกอบใหม่ๆ ในกรอบโครงสร้างสำหรับ การแลกเปลี่ยนบริการเหล่านี้ เสริมรับกับความสามารถของกลุ่มผลิตภัณฑ์ Cisco Mobile Exchange (CMX) ซึ่งรองรับการสื่อสารระหว่างเครือข่ายวิทยุ กับบริการอินเทอร์เน็ตบนเครือข่ายไอพี โดย CMX จะทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่น และผู้ติดตั้งระบบ สามารถใช้ประโยชน์ จากโซลูชั่นที่ยืดหยุ่น เพื่อนำเสนอบริการด้านข้อมูล แก่ผู้ใช้อุปกรณ์ไร้สาย
IP NGN ของซิสโก้: เลเยอร์เครือข่ายที่ปลอดภัย (Secure Network Layer)
รากฐานของเครือข่าย IP NGN ก็คือ เลเยอร์เครือข่ายที่ปลอดภัย ซึ่งครอบคลุมองค์ประกอบในส่วนของลูกค้า, การเข้าถึง/การผนวกรวม, IP MPLS ที่ชาญฉลาด และส่วนแกนกลาง ที่รองรับหลากหลายบริการ โดยมีองค์ประกอบสำหรับการรับส่งข้อมูล และการเชื่อมต่อขนาบอยู่ด้านล่าง และด้านบน ในปัจจุบัน เลเยอร์เครือข่ายที่ปลอดภัย กำลังเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นฐาน เมื่อเทียบกับช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ ตัวอย่างเช่น มีการผนวกรวม IP MPLS ไว้ในแต่ละส่วนของเครือข่าย ในขณะที่ส่วนรอบนอก และส่วนแกนกลาง ของเครือข่ายได้รับการผนวกรวมเพิ่มมากขึ้น โดยมีการแบ่งปันความสามารถของแต่ละส่วน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำหรับผู้ให้บริการ
ซิสโก้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการสื่อสาร IP MPLS ซึ่งเป็นรากฐานสำหรับเครือข่ายไอพี ขนาดใหญ่ในอนาคต ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา IP MPLS ได้รับการยอมรับว่าเป็นกลจักรสำคัญ สำหรับการผนวกรวมเครือข่าย ซิสโก้มีลูกค้าในกลุ่มผู้ให้บริการมากกว่า 250 รายทั่วโลกที่ติดตั้ง IP MPLS และเนื่องจากลูกค้าเหล่านี้ ได้เลือกใช้โซลูชั่น IP MPLS ที่ชาญฉลาดของซิสโก้ ดังนั้นจึงถือได้ว่าลูกค้ากลุ่มนี้ ได้เข้าร่วมการเดินทางสู่ IP NGN ในอนาคต
ผู้ให้บริการโทรคมนาคมและองค์กรด้านการวิจัยทั่วโลกกำลังรับ Cisco CRS-1 เข้าใช้ในการขยายโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับเครือข่ายไอพี และนำเสนอบริการมัลติมีเดียขั้นสูง ตัวอย่างเช่น:
■ SOFTBANK BB Corp ซึ่งเป็นผู้ให้บริการบรอดแบนด์ และคอนเทนต์ในญี่ปุ่น (ผู้ให้บริการ Yahoo!BB) ได้เลือกใช้ Cisco CRS-1 เพื่อทำหน้าที่เป็นคอร์เราเตอร์ในส่วนแบ็คโบน สำหรับเครือข่าย IP NGN ทั้งนี้ SOFTBANK มุ่งเน้นบริการต่างๆ เช่น บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง, video-on-demand และเกมออนไลน์
■ SuperSINET เครือข่ายวิจัยด้านการศึกษาระดับประเทศที่ใหญ่ที่สุด ในญี่ปุ่น มีแผนที่จะติดตั้ง Cisco CRS-1 ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นระบบเราติ้ง ในส่วนคอร์ เพื่อรองรับการวิจัยด้านกริดคอมพิวติ้ง, ซูเปอร์คอมพิวติ้ง และแอพพลิเคชั่นทางด้านวิทยาศาสตร์
■ Pittsburgh Supercomputing Center ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ ระดับชั้นนำ กำลังประเมินประสิทธิภาพของ IP NGN โดยใช้ Cisco CRS-1 เพื่อตรวจวัดระดับประสิทธิภาพที่จำเป็น สำหรับการพัฒนางานวิจัย ทางด้านวิทยาศาสตร์ในอนาคต
■Telecom Italia กำลังทดลองใช้งาน CRS-1 ซึ่งทำหน้าที่เป็นรากฐานเครือข่าย สำหรับการนำเสนอแอพพลิเคชั่นมัลติมีเดีย ขั้นสูงให้แก่ลูกค้า จนถึงปัจจุบันนี้ CRS-1 สามารถรองรับความต้องการสูงสุด ของผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความพร้อมใช้งาน และความยืดหยุ่นทางด้านบริการ และคาดหมายว่า CRS-1 จะเป็นองค์ประกอบหลักในเครือข่าย IP NGN ของ Telecom Italia