ผู้เขียน หัวข้อ: ศึกษาภาระรับผิดชอบของ 'ผู้ให้บริการ' ต่อ พรบ.คอมฯ บังคับใ้ช้วันนี้แล้ว  (อ่าน 5442 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

doramon

  • บุคคลทั่วไป
http://www.chainat.go.th/sub1/rid12/Report/ICT_law2550.pdf


ศึกษาภาระรับผิดชอบของ 'ผู้ให้บริการ' ก่อน พรบ.คอมฯ บังคับใช้
๒๕ มีนาคม ๒๕๕๐


... การจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือ Traffic data คงยังเป็นความวิตกกังวลของ “ผู้ให้บริการ” หลายราย เนื่องจากในร่าง พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ย ...

 
การจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือ Traffic data คงยังเป็นความวิตกกังวลของ “ผู้ให้บริการ” หลายราย เนื่องจากในร่าง พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ. ... . มาตรา 24 ได้ระบุว่า “ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับ แต่วันที่ข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ในกรณีจำเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งให้ผู้ให้บริการผู้ใดเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้เกินสามสิบวัน แต่ไม่เกินเก้าสิบวันเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย และเฉพาะคราวก็ได้ ... .”

แต่ด้วยความคลุมเครือของ “ผู้ให้บริการ” ที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าตีความถึงใครบ้าง และมีข้อมูลที่จำเป็นมากน้อยเพียงใด อันเกี่ยวพันถึงภาระต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องกลับมาทำการบ้าน และหาทางออกว่า ณ จุดใด จึงจะทำให้กฎหมายฉบับนี้ เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถจัดการกับการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ได้ พร้อมกับก็ไม่กระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจที่มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยมากเกินไป

มรกต กุลธรรมโยธิน นายกสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ให้ทรรศนะว่า ในการเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์หรือ Traffic Data นั้น ถ้าอ้างอิงตาม EU Forum on Cybercrime Discussion Paper for Expert’s Meeting on Retention of Traffic Data 6 พ.ย. 2544 จะจัดได้ 7 กลุ่ม คือ

1. ข้อมูลอินเทอร์เน็ตบนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PCs) เช่น อีเมล์, ชื่อ และรหัสผ่าน เป็นต้น

2. ข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่เกิดจากการเข้าถึงระบบเครือข่าย (Network Access System: NAS หรือ dial up services) ได้แก่ Access log คือ ข้อมูลที่มีการบันทึกเมื่อมีการเข้าถึงเครื่องให้บริการ โดยมีการระบุถึงตัวตน และสิทธิในการเข้าถึงเครือข่าย รวมถึง วัน-เวลา, ชื่อผู้ใช้ (User ID), IP Address และหมายเลขสายที่เรียกเข้า (Caller ID)

3. ข้อมูลในกลุ่มของผู้ให้บริการอีเมล์ (E-mail Servers)ได้แก่ SMTP log คือข้อมูล log ที่บันทึกไว้เมื่อเข้าถึงเครื่องให้บริการ, ชื่ออี-เมล์ทั้งของผู้ส่ง และผู้รับ, วัน-เวลา, IP Address, หมายเลขสมาชิก ฯลฯ

4. ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตที่เกิดจากการโดนถ่ายข้อมูล (FTP Servers) ได้แก่ ข้อมูล log ที่มีการบันทึกเมื่อมีการเข้าถึง FTP Servers (FTP log), วัน-เวลา, หมายเลข IP ของไอเอสพีที่เครื่องผู้เข้าใช้เชื่อมต่ออยู่ในขณะนั้น (IP Source address), หมายเลขสมาชิก (User ID), ตำแหน่ง และชื่อไฟล์ที่อยู่บนเครื่อง FTP (Path and filename of data object upload or download) ฯลฯ

5. ข้อมูลอินเทอร์เน็ตบนเครื่องผู้ให้บริการเว็บ (Web Servers) ได้แก่ ข้อมูล log ที่บันทึกเมื่อมีการเข้าถึง เว็บเซิร์ฟเวอร์ (HTTP log), วัน-เวลา, หมายเลข IP, รูปแบบคำสั่งในการเข้ามาใช้ (Operation), เส้นทางในการเรียกดูข้อมูล (Path of the operation), รหัสที่เครื่องให้บริการตอบสนองออกไป (Response codes)

6. ข้อมูลบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ (Usenet) ได้แก่ ข้อมูล log ที่บันทึกเมื่อมีการเข้าถึงเครือข่าย Usenet (NNTP log), วัน-เวลา, ชื่อเครื่อง (Host name), หมายเลข port ในการใช้งาน (Protocol process ID), หมายเลขลำดับข้อความที่ได้ถูกส่งไปแล้ว (Posted message ID) และ จุดประสงค์พื้นฐานในการใช้งานของผู้เข้าใช้บริการ แต่ไม่รวมถึงเนื้อหา (Basic client activity, but not the content)

7. ข้อมูลที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet Relay Chat) ได้แก่ ข้อมูล log เมื่อมีการเข้าถึงเครือข่าย (IRC log), วัน-เวลา, ช่วงเวลาที่มีตัวตนบนเครือข่าย (Duration of session), ชื่อที่ใช้ในเครือข่าย (Nickname used during IRC connection) และชื่อเครือข่ายหรือหมายเลข IP (Hostname and/or IP Address)

พร้อมกันนี้ นายกสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต มองว่า สำหรับการเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยนั้น เชื่อว่าการจัดเก็บในส่วนของ login ว่าเข้าระบบในเวลาใด ใช้หมายเลข IP ใด และข้อมูลในการให้บริการอี-เมล์ น่าจะเพียงพอ จึงควรมีการระบุให้ชัดเจนว่าข้อมูลที่จะจัดเก็บตาม พรบ. ฉบับนี้ ควรมีอะไรบ้าง และกำหนดความรับผิดชอบของผู้ให้บริการให้เข้ากับบริการนั้นๆ เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระที่มากเกินไป แต่ในมุมของผู้ให้บริการ มองว่าคำนิยามของ “ผู้ให้บริการ” ในร่าง พรบ.ดังกล่าวยังไม่ค่อยชัดเจน เพราะในความเป็นจริงผู้ให้บริการมีความหลากหลายพอสมควร

ด้าน ภูมิจิต ยอง ตัวแทนจากชมรมผู้ประกอบการโฮสติ้ง สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ได้เสนอเอกสารสรุปการประชุมของชมรมฯ ต่อเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็นร่าง พรบ.ฉบับนี้ ในหัวข้อ “Traffic Data ภาระหรือความจำเป็นในการจัดเก็บของผู้ให้บริการ…ใครคือผู้ให้บริการ” วันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา

โดยกลุ่มผู้ให้บริการโฮสติ้งเห็นว่า log ที่ควรเก็บ มี 4 ประเภท คือ
1. Web server access log file ได้แก่ IP, เวลา, URI ชื่อเว็บไซต์ที่เรียกเข้ามาบนเครื่องนั้น เป็นต้น
2. Server access log file ได้แก่ IP, เวลา และ login
3. SMTP log file ได้แก่ Remote IP และ Local IP ที่เป็นผู้สั่งให้ส่งอีเมล์ เวลาที่ส่ง และอีเมล์ ID 4. FTP log file ได้แก่ IP เวลา login และชื่อของ Upload file แต่ในการคำนวณ log file นั้นทำได้ยากเนื่องจากเว็บมีหลายขนาด
ตัวแทนจากชมรมผู้ประกอบการโฮสติ้ง ได้ยกตัวอย่างเว็บไซต์ของชมรม คือ www.thaihosttalk.com ซึ่งเป็นเว็บชนาดกลางถึงขนาดเล็ก ว่ามี web server log ประมาณ 20 MB ต่อวัน, access log และ ftp log ขนาดค่อนข้างเล็กไม่เกิน 2 MB ต่อวัน ส่วน SMTP log ขึ้นอยู่กับว่ามีการส่งเมล์หรือโดนสแปมรบกวนมากหรือไม่ แต่น่าจะไม่เกิน 2 MB เช่นกัน รวมแล้วราวๆ 25 MB ต่อเว็บไซต์ต่อวัน หากมี100 เว็บไซต์ต่อเซิร์ฟเวอร์ ก็จะอยู่ที่ 2500 MB ต่อวัน เก็บ 30 วัน คิดเป็นจำนวน 75 GB

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการรับผิดชอบเกี่ยวกับ log file มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนลูกค้า แต่ถ้ากฎหมายออกมาจริง ผู้ประกอบการก็ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งด้านค่าอุปกรณ์ที่ต้องติดตั้งเพิ่มเติม และการลดหย่อนภาษีบ้าง ส่วนระยะเวลาเตรียมตัว อาจต้องใช้เวลาราว 3 เดือน นอกจากนี้ ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ ความเสมอภาคว่า จะบังคับใช้ต่อผู้ใช้บริการโฮสติ้งต่างประเทศ โดยตรง และบุคคลธรรมดาที่ทำธุรกิจโฮสติ้งเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มนักศึกษาที่เช่าเครื่อง และเฉลี่ยค่าใช้จ่ายกันเองอย่างไร

พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เสริมว่า ตนเห็นด้วยกับการแบ่งประเภทของผู้ให้บริการให้ชัดเจนว่าเป็นใครบ้าง และมีขอบข่ายการจัดเก็บข้อมูลมากน้อยเพียงใด เพื่อให้เกิดความชัดเจน และไม่เป็นภาระต่อผู้ให้บริการ โดยอาจกำหนดลงในกฎกระทรวง เช่น แบ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ไอเอสพี ผู้ให้บริการภายในองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ผู้ให้บริการโฮสติ้ง และกลุ่มเว็บไซต์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีสารสนเทศ ดีเอสไอ ให้มุมมองว่า “ผมมองว่าเราซีเรียสเกินไปหรือเปล่า บางทีอาจเป็นเพราะว่าเห็นข้อมูลจาก EU Forum แล้วคิดว่าต้องเก็บเยอะ เอาเป็นว่าขอให้ดูมาว่าตนให้บริการอะไร ถ้าไม่ได้ให้บริการอี-เมล์ก็ไม่ต้องเก็บ mail log นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็หวังเพียงให้ช่วยเก็บเลขไอพีกับวันเวลาที่ใช้บริการ และอาจรวมถึงชื่อผู้เข้าใช้ (username) เท่านี้ ก็พอใจแล้ว”

พ.ต.ท.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้กำกับงานอำนวยการศูนย์ตรวจสอบ และวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสริมว่า เบื้องต้นคงต้องมาหารือกันว่าผู้ให้บริการ แต่ละกลุ่มจะสามารถให้ความร่วมมือมากน้อยเพียงใดในการเก็บข้อมูลที่จะช่วยเป็นเบาะแส เช่น ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ อาจมีรูปแบบต่างออกไป คืออาจใช้เว็บแคมติดที่หน้าร้าน เพื่อจับตำแหน่งหรือหน้าผู้ใช้บริการ แม้ว่าไม่เห็นผลชัด แต่ก็ดีกว่าไม่มี และพอใช้เป็นร่องรอยได้บ้าง

“สำหรับตำรวจอยากให้เน้นการเก็บข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนของผู้ใช้บริการได้ เพราะปัจจุบันมักเก็บข้อมูลไว้ แต่ไม่สามารถใช้เป็นเบาะแสตามตัวคนร้ายได้ จะเก็บแบบใดไม่สำคัญ สำคัญที่การนำมาใช้ได้จริง ประกอบกับความรวดเร็วด้วย อย่างในต่างประเทศเจ้าหน้าที่สามารถอีเมล์ขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการก่อนการทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร และเมื่อได้รับหนังสือจากทางการ ผู้ให้บริการก็สามารถให้ข้อมูลได้ทันที ช่วยให้การทำงานเร็วขึ้น ไม่ใช่รอจนหนังสือมาแล้วค่อยไปจัดทำข้อมูล” รองผู้กำกับงานอำนวยการศูนย์ตรวจสอบ และวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี กล่าว

พ.ต.ท.นิเวศน์ เพิ่มเติมด้วยว่า สิ่งที่หนักใจอีกประการหนึ่งคือ ประเด็นเรื่องการปกป้องสิทธิ กฎหมายหลายฉบับให้ความสำคัญกับจุดนี้ แต่มักถูกตีความ เพื่อปกป้องสิทธิให้ผู้กระทำความผิด อย่างที่ตอนนี้ ผู้ให้บริการบางรายไม่ยอมให้ข้อมูล อ้างว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลของลูกค้า จึงต้องสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน และชัดเจนก่อนว่าการปกป้องสิทธินั้นต้องเป็นไป เพื่อปกป้องผู้บริสุทธิ์

กฎหมายฉบับนี้ เป็นอีกหนึ่งความหวังในการสร้างสังคมไซเบอร์ที่สงบสุข และปลอดภัย ดังนั้น ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่กฎหมายจะคลอดจึงเป็นโอกาสดีในการช่วยกันอุดช่องโหว่ และเสริมจุดแข็งต่างๆ ผ่านเวทีเสวนา และช่องทางแสดงความคิดเห็นต่างๆ อาทิ http://wiki.nectec.or.th เพื่อเตรียมความพร้อม และผลักดันให้เครื่องมือชิ้นนี้ ทำหน้าที่ได้เต็มความสามารถ เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายสมดังเจตนาที่ตั้งไว้อย่างแท้จริง

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 8 มีนาคม 2550
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 18, 2007, 20:16:13 PM โดย doraemon(saiyok) »

doramon

  • บุคคลทั่วไป

doramon

  • บุคคลทั่วไป
 พระราชบัญญัติ

ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

พ.ศ. ๒๕๕๐





ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐

เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน



พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า



โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้



มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐”



มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป



มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

“ระบบคอมพิวเตอร์” หมายความว่า อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมการทำงานเข้าด้วยกัน โดยได้มีการกำหนดคำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด และแนวทางปฏิบัติงานให้อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลโดยอัตโนมัติ



“ข้อมูลคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูล ข้อความ คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และให้หมายความรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

“ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งแสดงถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง ปลายทาง เส้นทาง เวลา วันที่ ปริมาณ ระยะเวลาชนิดของบริการ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์นั้น

“ผู้ให้บริการ” หมายความว่า

(๑) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่น โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น

(๒) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น

“ผู้ใช้บริการ” หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการไม่ว่าต้องเสียค่าใช้บริการหรือไม่ก็ตาม

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้



มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้



หมวด ๑

ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์





มาตรา ๕ ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



มาตรา ๖ ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะถ้านำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยมิชอบในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



มาตรา ๗ ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ



มาตรา ๘ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



มาตรา ๙ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



มาตรา ๑๐ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



มาตรา ๑๑ ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท



มาตรา ๑๒ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐

(๑) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นในทันทีหรือในภายหลังและไม่ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

(๒) เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริการสาธารณะ หรือเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท

ถ้าการกระทำความผิดตาม (๒) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี



มาตรา ๑๓ ผู้ใดจำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ หรือมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)



มาตรา ๑๕ ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๔



มาตรา ๑๖ ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิด

ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้

ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย



มาตรา ๑๗ ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้นอกราชอาณาจักรและ

(๑) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้นหรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ

(๒) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหายและผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ

จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร



หมวด ๒

พนักงานเจ้าหน้าที่





มาตรา ๑๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๙ เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ เฉพาะที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดและหาตัวผู้กระทำความผิด

(๑) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้มาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งเอกสาร ข้อมูล หรือหลักฐานอื่นใดที่อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้

(๒) เรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากผู้ให้บริการเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์หรือจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง

(๓) สั่งให้ผู้ให้บริการส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการที่ต้องเก็บตามมาตรา ๒๖ หรือที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมของผู้ให้บริการให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่

(๔) ทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ จากระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่ระบบคอมพิวเตอร์นั้นยังมิได้อยู่ในความครอบครองของพนักงานเจ้าหน้าที่

(๕) สั่งให้บุคคลซึ่งครอบครองหรือควบคุมข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ ส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่

(๖) ตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด อันเป็นหลักฐานหรืออาจใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือเพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดและสั่งให้บุคคลนั้นส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นให้ด้วยก็ได้

(๗) ถอดรหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำการถอดรหัสลับ หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการถอดรหัสลับดังกล่าว

(๘) ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์เท่าที่จำเป็นเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทราบรายละเอียดแห่งความผิดและผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้



มาตรา ๑๙ การใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๘ (๔) (๕) (๖) (๗) และ (๘) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามคำร้อง ทั้งนี้ คำร้องต้องระบุเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลใดกระทำหรือกำลังจะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เหตุที่ต้องใช้อำนาจ ลักษณะของการกระทำความผิด รายละเอียดเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำความผิดและผู้กระทำความผิด เท่าที่สามารถจะระบุได้ ประกอบคำร้องด้วยในการพิจารณาคำร้องให้ศาลพิจารณาคำร้องดังกล่าวโดยเร็ว

เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ก่อนดำเนินการตามคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งสำเนาบันทึกเหตุอันควรเชื่อที่ทำให้ต้องใช้อำนาจตามมาตรา ๑๘ (๔) (๕) (๖) (๗) และ (๘) มอบให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐาน แต่ถ้าไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ ณ ที่นั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งมอบสำเนาบันทึกนั้นให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองดังกล่าวในทันทีที่กระทำได้

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เป็นหัวหน้าในการดำเนินการตามมาตรา ๑๘ (๔) (๕) (๖) (๗) และ (๘) ส่งสำเนาบันทึกรายละเอียดการดำเนินการและเหตุผลแห่งการดำเนินการให้ศาลที่มีเขตอำนาจภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาลงมือดำเนินการ เพื่อเป็นหลักฐาน

การทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา ๑๘ (๔) ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และต้องไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินกิจการของเจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเกินความจำเป็น

การยึดหรืออายัดตามมาตรา ๑๘ (๘) นอกจากจะต้องส่งมอบสำเนาหนังสือแสดงการยึดหรืออายัดมอบให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐานแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งยึดหรืออายัดไว้เกินสามสิบวันมิได้ ในกรณีจำเป็นที่ต้องยึดหรืออายัดไว้นานกว่านั้น ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอขยายเวลายึดหรืออายัดได้ แต่ศาลจะอนุญาตให้ขยายเวลาครั้งเดียวหรือหลายครั้งรวมกันได้อีกไม่เกินหกสิบวัน เมื่อหมดความจำเป็นที่จะยึดหรืออายัดหรือครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องส่งคืนระบบคอมพิวเตอร์ที่ยึดหรือถอนการอายัดโดยพลัน

หนังสือแสดงการยึดหรืออายัดตามวรรคห้าให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง



มาตรา ๒๐ ในกรณีที่การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาคสองลักษณะ ๑ หรือลักษณะ ๑/๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้

ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลายนั้นเอง หรือสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ได้



มาตรา ๒๑ ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พบว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดมีชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์รวมอยู่ด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอให้มีคำสั่งห้ามจำหน่ายหรือเผยแพร่ หรือสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นระงับการใช้ ทำลายหรือแก้ไขข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขในการใช้ มีไว้ในครอบครอง หรือเผยแพร่ชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์ดังกล่าวก็ได้

ชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์ตามวรรคหนึ่งหมายถึงชุดคำสั่งที่มีผลทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์หรือชุดคำสั่งอื่นเกิดความเสียหาย ถูกทำลาย ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมขัดข้อง หรือปฏิบัติงานไม่ตรงตามคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือโดยประการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงทั้งนี้ เว้นแต่เป็นชุดคำสั่งที่มุ่งหมายในการป้องกันหรือแก้ไขชุดคำสั่งดังกล่าวข้างต้น ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา



มาตรา ๒๒ ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยหรือส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่ได้มาตามมาตรา ๑๘ ให้แก่บุคคลใด

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการกระทำเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ หรือเป็นการกระทำตามคำสั่งหรือที่ได้รับอนุญาตจากศาล

พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดฝ่าฝืนวรรคหนึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



มาตรา ๒๓ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่ได้มาตามมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



มาตรา ๒๔ ผู้ใดล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตามมาตรา ๑๘ และเปิดเผยข้อมูลนั้นต่อผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



มาตรา ๒๕ ข้อมูล ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อ้างและรับฟังเป็นพยานหลักฐานตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยานได้ แต่ต้องเป็นชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจมีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น



มาตรา ๒๖ ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับแต่วันที่ข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ในกรณีจำเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งให้ผู้ให้บริการผู้ใดเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้เกินเก้าสิบวันแต่ไม่เกินหนึ่งปีเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายและเฉพาะคราวก็ได้

ผู้ให้บริการจะต้องเก็บรักษาข้อมูลของผู้ใช้บริการเท่าที่จำเป็นเพื่อให้สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการนับตั้งแต่เริ่มใช้บริการและต้องเก็บรักษาไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับตั้งแต่การใช้บริการสิ้นสุดลง

ความในวรรคหนึ่งจะใช้กับผู้ให้บริการประเภทใด อย่างไร และเมื่อใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ผู้ให้บริการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท



มาตรา ๒๗ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๒๐ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา ๒๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทและปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง



มาตรา ๒๘ การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้และความชำนาญเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์และมีคุณสมบัติตามที่รัฐมนตรีกำหนด



มาตรา ๒๙ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีอำนาจรับคำร้องทุกข์หรือรับคำกล่าวโทษ และมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

ในการจับ ควบคุม ค้น การทำสำนวนสอบสวนและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ บรรดาที่เป็นอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประสานงานกับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติและรัฐมนตรีมีอำนาจร่วมกันกำหนดระเบียบเกี่ยวกับแนวทางและวิธีปฏิบัติในการดำเนินการตามวรรคสอง



มาตรา ๓๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง

บัตรประจำตัวของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา





ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์

นายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันระบบคอมพิวเตอร์ได้เป็นส่วนสำคัญของการประกอบกิจการและการดำรงชีวิตของมนุษย์ หากมีผู้กระทำด้วยประการใดๆ ให้ระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานตามคำสั่งที่กำหนดไว้หรือทำให้การทำงานผิดพลาดไปจากคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือใช้วิธีการใดๆ เข้าล่วงรู้ข้อมูล แก้ไข หรือทำลายข้อมูลของบุคคลอื่นในระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ หรือใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จหรือมีลักษณะอันลามกอนาจาร ย่อมก่อให้เกิดความเสียหาย กระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งความสงบสุขและศีลธรรมอันดีของประชาชน สมควรกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

doramon

  • บุคคลทั่วไป
 พรบ.คอมฉบับชาวบ้าน(เฉพาะหมวด2ภาคความผิด)

1.เจ้าของไม่ให้เข้าระบบคอมพิวเตอร์ของเขา แล้วเราแอบเข้าไป … เจอคุก 6 เดือน

2.แอบไปรู้วิธีการเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของชาวบ้าน แล้วเที่ยวไปโพนทะนาให้คนอื่นรู้ … เจอคุกไม่เกินปี

3.ข้อมูลของเขา เขาเก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ดี ๆ แล้วแอบไปล้วงของเขา … เจอคุกไม่เกิน 2 ปี

4.เขาส่งข้อมูลหากันผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบส่วนตั๊วส่วนตัว แล้วเราทะลึ่งไปดักจับข้อมูลของเขา … เจอคุกไม่เกิน 3 ปี

5.ข้อมูลของเขาอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของเขาดี ๆ เราดันมือบอนไปโมมันซะงั้น … เจอคุกไม่เกิน 5 ปี

6.ระบบคอมพิวเตอร์ของชาวบ้านทำงานอยู่ดี ๆ เราดันยิง packet หรือ message หรือ virus หรือ trojan หรือ worm หรือ (โอ๊ยเยอะ) เข้าไปก่อกวนจนระบบเขาเดี้ยง … เจอคุกไม่เกิน 5 ปี

7.เขาไม่ได้อยากได้ข้อมูลหรืออีเมลล์จากเราเล้ย เราก็ทำตัวเป็นอีแอบเซ้าซี้ส่งให้เขาซ้ำ ๆ อยู่นั่นแหล่ะ จนทำให้เขาเบื่อหน่ายรำคาญ … เจอปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

8.ถ้าเราทำผิดข้อ 5. กับ ข้อ 6. แล้วมันสร้างความพินาศใหญ่โตในระดับรากหญ้า งานนี้มีซวยแน่ เจอคุกสิบปีขึ้น

9.ถ้าเราสร้างซอฟต์แวร์เพื่อช่วยให้ใคร ๆ ทำเรื่องแย่ ๆ ในข้อข้างบน ๆ ได้ … เจอคุกไม่เกินปีนึงเหมือนกัน

10.โป๊ก็โดน, โกหกก็โดน, เบนโลก็โดน, ท้าทายอำนาจรัฐก็โดน … เจอคุกไม่เกิน 5 ปี

11.ใครเป็นเจ้าของเว็บ แล้วยอมให้เกิดข้อ 10. โดนเหมือนกัน … เจอคุกไม่เกิน 5 ปี

12.ถ้าเราเรียกให้ชาวบ้านเข้ามาดูงานของศิลปินข้างถนน ซึ่งชอบเอารูปชาวบ้านมาตัดต่อ เตรียมใจไว้เลยมีโดน … เจอคุกไม่เกิน 3 ปี

13.เราทำผิดที่เว็บไซต์ซึ่งอยู่เมืองนอก แต่ถ้าเราเป็นคนไทย หึ ๆ อย่าคิดว่ารอด โดนแหง ๆ

14.ฝรั่งทำผิดกับเรา แล้วมันอยู่เมืองนอกอีกต่างหาก เราเป็นคนไทย ก็เรียกร้องเอาผิดได้เหมือนกัน (จริงดิ?)

ออฟไลน์ por

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1,087
  • เพราะว่าเธอคือดวงใจของฉัน
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • Blog Adminpor
นับถือครับท่าน อ.อ็อด
adminpor
ICT @ Office of Public Health.Nakhonsi Province.
Mobile.083-1740976
Office.075-343409 to 106

ออฟไลน์ Khuad

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3,778
  • .. นางฟ้า ตัวไม่น้อยแล้ว ..
  • Respect: +10
    • ดูรายละเอียด
...ขอบคุณ อ.อ๊อด ครับ  เดี่ยวมีเวลาค่อยอ่าน..ตอนนี้ไปดู TV ก่อนครับ ..อิอิ... ;D ;D..
โรงพยาบาลวังน้อย   พระนครศรีอยุธยา ( รพช.30 เตียง )
Server : ProLiant DL120G6  Xeon X3450  RDIMM 12 Gb  2x256GB SSD Raid 1
OS : CentOS 6.3  DB : Percona 5.5.21

Slave : ProLiant ML110G6  Xeon X3430  UDIMM 8 Gb  2x300GB SAS Raid 1
OS : CentOS 6.3  DB : Percona 5.5.32

HOSxP version  3.57.xx.xx    เริ่มระบบ  เมษายน 2549

ออฟไลน์ Khuad

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3,778
  • .. นางฟ้า ตัวไม่น้อยแล้ว ..
  • Respect: +10
    • ดูรายละเอียด
พรบ.คอมฉบับชาวบ้าน(เฉพาะหมวด2ภาคความผิด)

1.เจ้าของไม่ให้เข้าระบบคอมพิวเตอร์ของเขา แล้วเราแอบเข้าไป … เจอคุก 6 เดือน

2.แอบไปรู้วิธีการเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของชาวบ้าน แล้วเที่ยวไปโพนทะนาให้คนอื่นรู้ … เจอคุกไม่เกินปี

3.ข้อมูลของเขา เขาเก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ดี ๆ แล้วแอบไปล้วงของเขา … เจอคุกไม่เกิน 2 ปี

4.เขาส่งข้อมูลหากันผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบส่วนตั๊วส่วนตัว แล้วเราทะลึ่งไปดักจับข้อมูลของเขา … เจอคุกไม่เกิน 3 ปี

5.ข้อมูลของเขาอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของเขาดี ๆ เราดันมือบอนไปโมมันซะงั้น … เจอคุกไม่เกิน 5 ปี

6.ระบบคอมพิวเตอร์ของชาวบ้านทำงานอยู่ดี ๆ เราดันยิง packet หรือ message หรือ virus หรือ trojan หรือ worm หรือ (โอ๊ยเยอะ) เข้าไปก่อกวนจนระบบเขาเดี้ยง … เจอคุกไม่เกิน 5 ปี

7.เขาไม่ได้อยากได้ข้อมูลหรืออีเมลล์จากเราเล้ย เราก็ทำตัวเป็นอีแอบเซ้าซี้ส่งให้เขาซ้ำ ๆ อยู่นั่นแหล่ะ จนทำให้เขาเบื่อหน่ายรำคาญ … เจอปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

8.ถ้าเราทำผิดข้อ 5. กับ ข้อ 6. แล้วมันสร้างความพินาศใหญ่โตในระดับรากหญ้า งานนี้มีซวยแน่ เจอคุกสิบปีขึ้น

9.ถ้าเราสร้างซอฟต์แวร์เพื่อช่วยให้ใคร ๆ ทำเรื่องแย่ ๆ ในข้อข้างบน ๆ ได้ … เจอคุกไม่เกินปีนึงเหมือนกัน

10.โป๊ก็โดน, โกหกก็โดน, เบนโลก็โดน, ท้าทายอำนาจรัฐก็โดน … เจอคุกไม่เกิน 5 ปี

11.ใครเป็นเจ้าของเว็บ แล้วยอมให้เกิดข้อ 10. โดนเหมือนกัน … เจอคุกไม่เกิน 5 ปี

12.ถ้าเราเรียกให้ชาวบ้านเข้ามาดูงานของศิลปินข้างถนน ซึ่งชอบเอารูปชาวบ้านมาตัดต่อ เตรียมใจไว้เลยมีโดน … เจอคุกไม่เกิน 3 ปี

13.เราทำผิดที่เว็บไซต์ซึ่งอยู่เมืองนอก แต่ถ้าเราเป็นคนไทย หึ ๆ อย่าคิดว่ารอด โดนแหง ๆ

14.ฝรั่งทำผิดกับเรา แล้วมันอยู่เมืองนอกอีกต่างหาก เราเป็นคนไทย ก็เรียกร้องเอาผิดได้เหมือนกัน (จริงดิ?)


...ถ้ากฏหมายเข้าใจง่ายเหมือนของ อ.อ๊อด ก็ดีนะครับ ... ชาวบ้านตาดำๆ อย่างๆเราๆ จะได้เข้าใจกะเขามั่ง... ;D ;D..
โรงพยาบาลวังน้อย   พระนครศรีอยุธยา ( รพช.30 เตียง )
Server : ProLiant DL120G6  Xeon X3450  RDIMM 12 Gb  2x256GB SSD Raid 1
OS : CentOS 6.3  DB : Percona 5.5.21

Slave : ProLiant ML110G6  Xeon X3430  UDIMM 8 Gb  2x300GB SAS Raid 1
OS : CentOS 6.3  DB : Percona 5.5.32

HOSxP version  3.57.xx.xx    เริ่มระบบ  เมษายน 2549

ออฟไลน์ por

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1,087
  • เพราะว่าเธอคือดวงใจของฉัน
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • Blog Adminpor
adminpor
ICT @ Office of Public Health.Nakhonsi Province.
Mobile.083-1740976
Office.075-343409 to 106