เห็นว่าโปรแกรมที่น้อง ๆ เขาชนะมาเป็นระบบ ตรวจรักษาคนไข้ น่าจะหมวดเดียว ๆ กันกับพวกเราก็เลยเอาข่าวมาฝากครับ ...
มาเลย์-สิงคโปร์ปิ๋ว เด็กไทยคว้าแชมป์ JavaJive'08
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 16 กรกฎาคม 2551 12:56 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
นายศรา สนธิศิริกฤตย์ นายรพี กมณฑลาภิเษก และนายศิริศิลป์ กองศิลป์ สามเยาวชนไทยทีม Snooze Monkey กับเหรียญทองแชมป์ Java Jive Regional Challenge 2008
ทีมเยาวชนไทยเจ๋ง คว้าแชมป์โครงการแข่งออกแบบแอปพลิเคชันด้านสุขภาพด้วยภาษาจาวาครั้งแรกในภูมิภาค "Java Jive Regional Challenge 2008" หรือ JavaJive 2008 คณะกรรมการวงในระบุผลคะแนนทีมไทยชนะทีมตัวแทนจากประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์อย่างเป็นเอกฉันท์ ด้านแชมป์เผยพร้อมต่อยอดผลงานให้สามารถนำไปใช้งานได้จริง ยอมรับตัวเองโชคดี ได้เรียนรู้และได้โอกาสมากมายจากการแข่งขันกับซันในศึกนี้
"ผมทำดีที่สุดแล้วและตั้งใจกับมันมาก แม้ว่าเวลาที่จำกัดทำให้เราต้องปรับขอบเขตการพัฒนาให้เล็กลงและยังมีอีกหลายสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ แต่สิ่งที่จะทำต่อไปคือเราจะพยายามปรับให้สามารถนำไปใช้งานได้จริง ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมาก เรามีโอกาสในการนำเสนองานกับมืออาชีพในวงการ" นายศิริศิลป์ กองศิลป์ นายรพี กมณฑลาภิเษกและนายศรา สนธิศิริกฤตย์ สามเยาวชนไทยทีม Snooze Monkey กล่าวหลังคว้าแชมป์ Java Jive Regional Challenge 2008
ทีม Snooze Monkey เป็นนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์อินเตอร์ ภาควิชาซอฟต์แวร์และความรู้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชื่อผลงานถูกเปลี่ยนจาก "ORR" หรือ Open Recipe Resource มาเป็น Calories Asistant เป็นแอปพลิเคชันแก้ปัญหาโรคอ้วนที่สามารถคำนวณปริมาณแคลอรี่ที่บริโภคในแต่ละมื้อผ่านการป้อนเมนูอาหารที่รับประทานไป มีความเป็น Web 2.0 ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนสูตรอาหารระหว่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่การกลายเป็นชุมชนของผู้เผยแพร่สูตรอาหาร และผู้ที่ต้องการหาเมนูเพื่อสุขภาพใหม่ๆ
แชมป์เบอร์สองคือทีม The Inpatients นักศึกษาวิทยาลัย ITE College West จากสิงคโปร์ ชื่อแอปพลิเคชันคือ Enhanced Patient Information Center (EPIC) เป็นเว็บแอปพลิเคชันระบบจัดการข้อมูลคนไข้ในโรงพยาบาลแบบเรียลไทม์ ปรับปรุงระบบการดึงข้อมูลในโรงพยาบาลให้ดีขึ้นด้วยการจัดเก็บแบบรวมศูนย์ ซึ่งคุณหมอและหน่วยงานในโรงพยาบาลสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากเว็บเบราเซอร์หรืออุปกรณ์พกพาที่รองรับเทคโนโลยีจาวาของซันทุกชนิด ในงานมีการสาธิตการชมวีดีโอของระบบบนเครื่องเกม PSP หรือบน iPod Touch ได้อย่างราบรื่น
ส่วนแชมป์เบอร์สามคือทีม Dudesdoingjava หรือ DDJ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย Universiti Teknologi MARA ชื่อผลงานคือ ez.nosis เป็นเว็บแอปพลิเคชันหน้าตาใช้งานง่ายสำหรับให้แพทย์บันทึกข้อมูลอาการเจ็บป่วยของคนไข้ขณะวินิจฉัยโรค ระบบนี้ใช้แนวทางการออกรหัสอาการเจ็บป่วยสากล ICD-10 (International Statistical Classification of Diseases - version 10th) เปิดทางให้คุณหมอสามารถเก็บและเรียกดูข้อมูลประวัติการเจ็บป่วยของคนไข้ได้โดยตรงและง่ายขึ้น
นพ.สุธี ทุวิรัตน์ กรรมการบริหารสมาคมเวชสารสนเทศไทย (TMI) หนึ่งในทีมคณะกรรมการตัดสินจากประเทศไทย ที่เคยแสดงความมั่นใจว่าทีมเยาวชนไทยจะสามารถชนะการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ กล่าวว่าจุดอ่อนของทีมสิงคโปร์และมาเลเซียอยู่ที่การขาดการศึกษาและวิจัยระบบงานโรงพยาบาลที่ถูกต้อง ขณะที่ทีมไทยสามารถตอบโจทย์ทุกด้านได้ตรงความต้องการของโรงพยาบาล
"แอปพลิเคชันที่หมอและโรงพยาบาลต้องการคือแอปพลิเคชันที่ทำให้คนไข้ใช้เวลารอตรวจโรคน้อยลง คุณหมอต้องตรวจโรคได้เร็วขึ้น คนไข้ปลอดภัยมากขึ้น ระบบจ่ายยาในโรงพยาบาลต้องมีความถูกต้องมากขึ้น ผลงานทีมไทยป้องกันไม่ให้คนเจ็บป่วย ทำให้คนสุขภาพดีขึ้น ครอบคลุมความต้องการโรงพยาบาลมากกว่าแอปพลิเคชันของทีมสิงคโปร์และมาเลย์"
ทีมมาเลเซียระบุว่า ปัญหาของกลุ่มคือความท้าทายในการหาวิธีเพื่อแชร์ข้อมูลในโรงพยาบาลที่ง่ายและมีประสิทธิภาพ ขณะที่ทีมสิงคโปร์บอกว่า ความยากในการพัฒนาโปรแกรมคือการเข้าใจในความต้องการของแพทย์และกระบวนการทำงานในโรงพยาบาล ขณะที่ความยากของทีมไทยอยู่ที่การแปลงข้อมูลโภชนาการในรูปหน่วยที่ต่างกันของอาหารแต่ละประเภท โดยยอมรับว่าแอปพลิเคชันของกลุ่มยังขาดความสามารถในการติดต่อระหว่างผู้ใช้
"ผมได้เรียนรู้มากมายจากการแข่งขันครั้งนี้ และเชื่อว่าคนอื่นๆที่จะเข้ามาแข่งขันในปีต่อๆไปก็จะได้รับความรู้เหล่านี้เหมือนกัน" ตัวแทนทีมไทยกล่าว เช่นเดียวกับทีมสิงคโปร์ที่บอกว่า ได้รับความสนุกจากการแข่งขันครั้งนี้อย่างมาก
การแข่งขัน JavaJive 2008 เป็นปีแรกที่ซันดึงเอาผู้ชนะในสามประเทศมาประชันผลงานกัน จุดนี้ แมต ทอมป์สัน ผู้อำนวยการอาวุโสกลุ่มเครือข่ายนักพัฒนาและเทคโนโลยี ซัน ไมโครซิสเต็มส์ กล่าวในงาน Sun Developer Days ประเทสสิงคโปร์ ซึ่งเป็นที่จัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ JavaJive 2008 ว่าการแข่งขันในปีหน้าจะมีตัวแทนจากประเทศอื่นๆอย่างอินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามมาร่วมแข่งขันด้วยอย่างแน่นอน ระบุว่าสาเหตุที่เลือกเฉพาะไทย สิงคโปร์ และมาเลเซียนำร่องก่อนเป็นเพราะเห็นถึงศักยภาพนักพัฒนาในแต่ละประเทศ
"เหตุที่เลือกสามประเทศนี้เพราะทุกประเทศมีนักพัฒนาจำนวนมาก ขณะเดียวกัน การแข่งขันครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่นักศึกษาเพราะซันมองว่านักศึกษามีเวลาและมีพลังความคิดสร้างสรรค์มากกว่านักพัฒนาตัวจริง อย่างกูเกิล หรือแม้แต่ซันเองก็เกิดมาจากนวัตกรรมของนักศึกษา ที่สำคัญ ผลงานที่ชนะการแข่งขันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น 1 ใน 10 ก้าวเท่านั้น สิ่งที่ต้องคิดถึงต่อไปคือการนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้งานได้อย่างไร"
5 เกณฑ์การตัดสินผลประกวด ได้แก่การใช้งานได้จริง เรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี โอกาสต่อยอดทางธุรกิจ ความคิดสร้างสรรค์ และการมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กันทางอินเทอร์เน็ต รางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาคคือเงินสด 3,000 เหรียญสิงคโปร์ เครื่องเกม Wii คนละหนึ่งเครื่อง แน่นอนว่าเป็นของทีม Snooze Monkey แล้วเรียบร้อย โดยจะมีการนำเสนอผลงานในงาน Sun Developer Days ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทยช่วงเดือนสิงหาคมนี้
ยันไม่หวั่นอิทธิพลแอนดรอยด์
ทอมป์สันกล่าวในงานนี้ด้วยว่า แพลตฟอร์มซอฟต์แวร์สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พกพามาตรฐานเปิดของกูเกิลจะไม่มีผลกับการเติบโตของตลาดภาษาจาวาในอนาคต มั่นใจว่าภาษาจาวาจะยังไม่ตายง่ายๆ ขณะที่แอนดรอยด์ยังต้องใช้เวลาในการฟักไข่อีกนานกว่าจะเกิด
"แอนดรอยด์ (Android) นั้นมีพื้นฐานเป็นจาวาอยู่แล้ว คิดว่าภาษาจาวาจะยังคงมีการใช้งานอย่างแพร่หลายต่อไป แม้แต่ในไอโฟนก็ต้องมี ผมมั่นใจว่าแอนดรอยด์ยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะแพร่หลาย ซึ่งยังต้องดูปัจจัยร่วมอื่นๆด้วย"
จุดนี้ ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจซอฟต์แวร์ของซัน แสดงความเห็นว่า ผลกระทบของแพลตฟอร์มแอนดรอยด์จะอยู่ที่กลุ่มบริษัทโทรคมนาคมมากกว่า เพราะเมื่อไหร่ที่ผู้บริโภคสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์มือถือได้สะดวกสบาย เมื่อนั้นรายได้จากค่าบริการโทรศัพท์ผ่านเครือข่ายของโอเปอเรเตอร์ก็จะลดลงแน่นอน
ทอมป์สันทิ้งท้ายว่า ขณะนี้ซันกำลังมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี Cloud Computing เพื่อรับการมาถึงของเทคโนโลยี Web 3.0 เช่นเดียวกับที่ไอบีเอ็มเคยระบุไว้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้กูเกิล หรืออเมซอนสามารถให้บริการผู้ใช้ทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ งบประมาณการศึกษาและพัฒนาของซันมีมูลค่าราว 2 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
Company Related Links :
SUN