เปิดร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่ ก๊อปไฟล์ - โหลดบิท เจอคุก 3 ปี
อัปเกรดพ.ร.บ.คอมฯ เพิ่มโทษผู้ดูแลระบบ ก๊อปไฟล์โหลดบิทเสี่ยงคุก (ไอซีที) เปิดตัวร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เวอร์ชั่นใหม่จากกระทรวงไอซีที เพิ่มฟังก์ชั่น "ผู้ดูแลระบบ" โทษมากกว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไป ส่วน ก๊อปปี้ไฟล์ โหลดบิท คุก 3 ปี
เมื่อวันจันทร์ ที่ 28 มีนาคม 54 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จัดประชุมรับฟังและให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติว่า ด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยเชิญตัวแทนผู้ประกอบการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยในการประชุมดังกล่าว มีการแจกเอกสารร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ที่กระทรวงไอซีทีจัดทำขึ้นด้วย
ร่างกฎหมายนี้ เขียนขึ้นเพื่อให้ยกเลิก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ทั้งฉบับ และให้ใช้ร่างฉบับใหม่นี้แทน อย่างไรก็ดี โครงสร้างของเนื้อหากฎหมายมีลักษณะคล้ายคลึงฉบับเดิม โดยมีสาระสำคัญที่ต่างไป ดังนี้
ประเด็นที่ 1 เพิ่มนิยาม "ผู้ดูแลระบบ" มาตรา 4 เพิ่มนิยามคำว่า "ผู้ดูแลระบบ" หมายความว่า "ผู้มีสิทธิเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการแก่ผู้อื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่น โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น"
ในกฎหมายเดิมมีการกำหนดโทษของ "ผู้ให้บริการ" ซึ่งหมายถึงผู้ที่ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า การพยายามเอาผิดผู้ให้บริการซึ่งถือเป็น "ตัวกลาง" ในการสื่อสาร จะส่งผลต่อความหวาดกลัวและทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง อีกทั้งในแง่ของกฎหมายคำว่าผู้ให้บริการก็ตีความได้อย่างกว้างขวาง คือแทบจะทุกขั้นตอนที่มีความเกี่ยวข้องในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารก็ล้วนเป็นผู้ให้บริการทั้งสิ้น
สำหรับร่างฉบับใหม่ที่เพิ่มนิยามคำว่า "ผู้ดูแลระบบ" ขึ้นมานี้ อาจหมายความถึงเจ้าของเว็บไซต์ เว็บมาสเตอร์ แอดมินระบบเครือข่าย แอดมินฐานข้อมูล ผู้ดูแลเว็บบอร์ด บรรณาธิการเนื้อหาเว็บ เจ้าของบล็อก ขณะที่ "ผู้ให้บริการ" อาจหมายความถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
ตามร่างกฎหมายนี้ ตัวกลางต้องรับโทษเท่ากับผู้ที่กระทำความผิด เช่น หากมีการเขียนข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริง กระทบกระเทือนต่อความมั่นคง ผู้ดูแลระบบและผู้ให้บริการที่จงใจหรือยินยอมมีความผิดทางอาญาเท่ากับผู้ที่กระทำความผิด และสำหรับความผิดต่อระบบคอมพิวเตอร์ เช่น การเจาะระบบ การดักข้อมูล หากผู้กระทำนั้นเป็นผู้ดูแลระบบเสียเอง จะมีโทษ 1.5 เท่า ของอัตราโทษที่กำหนดกับคนทั่วไป
ประเด็นที่ 2 คัดลอกไฟล์ จำคุกสูงสุด 3 ปี สิ่งใหม่ในกฎหมายนี้ คือมีมาตรา 16 ที่ เพิ่มมาว่า "ผู้ใดสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
ทั้งนี้ การทำสำเนาคอมพิวเตอร์ อาจหมายถึงการคัดลอกไฟล์ การดาว์นโหลดไฟล์จากเว็บไซต์ต่าง ๆ มาตรานี้อาจมีไว้ใช้เอาผิดกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์หรือเพลง แต่แนวทางการเขียนเช่นนี้อาจกระทบไปถึงการแบ็กอัปข้อมูล การเข้าเว็บแล้วเบราว์เซอร์ดาว์นโหลดมาพักไว้ในเครื่องโดยอัตโนมัติหรือที่ เรียกว่า "แคช" (cache เป็น เทคนิคที่ช่วยให้เรียกดูข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น โดยเก็บข้อมูลที่เคยเรียกดูแล้วไว้ในเครื่อง เพื่อให้การดูครั้งต่อไป ไม่ต้องโหลดซ้ำ) ซึ่งผู้ใช้อาจมิได้มีเจตนาหรือกระทั่งรับรู้ว่ามีกระทำการดังกล่าว
ประเด็นที่ 3 มีไฟล์ลามกเกี่ยวกับเด็ก ผิด ในมาตรา 25 "ผู้ใดครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีลักษณะอันลามกที่เกี่ยวข้องกับเด็กหรือเยาวชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
เป็นครั้งแรกที่มีการระบุขอบเขตเรื่องลามกเด็กหรือเยาวชนโดยเฉพาะขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ยังมีความคลุมเครือว่า ลักษณะอันลามกที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนนั้นหมายความอย่างไร นอกจากนี้ มาตราดังกล่าวยังเป็นการเอาผิดที่ผู้บริโภค ซึ่งมีความน่ากังวลว่า การชี้วัดที่ "การครอบครอง" อาจทำให้เกิดการเอาผิดที่ไม่เป็นธรรม เพราะธรรมชาติการเข้าเว็บทั่วไป ผู้ใช้ย่อมไม่อาจรู้ได้ว่าการเข้าชมแต่ละครั้งดาว์นโหลดไฟล์ใดมาโดยอัตโนมัติบ้าง และหากแม้คอมพิวเตอร์ถูกตรวจแล้วพบว่ามีไฟล์โป๊เด็ก ก็ไม่อาจหมายความได้ว่าผู้นั้นเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้ดูผู้ชม
ประเด็นที่ 4 ยังเอาผิดกับเนื้อหา มาตรา 24 (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน
เนื้อความข้างต้น เป็นการรวมเอาข้อความในมาตรา14 (1) และ (2) ของ กฎหมายปัจจุบันมารวมกัน ทั้งนี้ หากย้อนไปถึงเจตนารมณ์ดั้งเดิมก่อนจะเป็นข้อความดังที่เห็น มาจากความพยายามเอาผิดกรณีการทำหน้าเว็บเลียนแบบให้เข้าใจว่าเป็นหน้าเว็บ จริงเพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล (phishing) จึง เขียนกฎหมายออกมาว่า การทำข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมถือเป็นความผิด แต่เมื่อแนวคิดนี้มาอยู่ในมือนักกฎหมายและเจ้าหน้าที่ ได้ตีความคำว่า "ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม" เสียใหม่ กลายเป็นเรื่องการเขียนเนื้อหาอันเป็นเท็จ และนำไปใช้เอาผิดฟ้องร้องกันในเรื่องการหมิ่นประมาท ความเข้าใจผิดนี้ยังดำรงอยู่และต่อเนื่องมาถึงร่างนี้ซึ่งได้ปรับถ้อยคำใหม่ และกำกับด้วยความน่าจะเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่น ตระหนกแก่ประชาชน มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากพิจารณาจากประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินคดีคอมพิวเตอร์ที่ผ่านมา ปัญหานี้ก่อให้เกิดการเอาผิดประชาชนอย่างกว้างขวาง เพราะหลายกรณี รัฐไทยเป็นฝ่ายครอบครองการนิยามความจริง ปกปิดความจริง ซึ่งย่อมส่งผลให้คนหันไปแสดงความคิดเห็นในอินเทอร์เน็ตแทน อันอาจถูกตีความได้ว่ากระทบต่อความไม่มั่นคงของ "รัฐบาล" ข้อความกฎหมายลักษณะนี้ ยังขัดต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่จำเป็น
ประเด็นที่ 5 ดูหมิ่น ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 26 ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพ ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น หรือข้อมูลอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลอื่นเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย หรือเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นข้อมูลที่แท้จริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่ผ่านมามีความพยายามฟ้องคดีหมิ่นประมาทซึ่งกันและกันโดยใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จำนวนมาก แต่การกำหนดข้อหายังไม่มีมาตราใดใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่จะใช้ได้อย่างตรงประเด็น มีเพียงมาตรา 14 (1) ที่ระบุเรื่องข้อมูลอันเป็นเท็จดังที่กล่าวมาแล้ว และมาตรา 16 ว่าด้วยภาพตัดต่อในร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ได้สร้างความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ใช้ตั้งข้อหาการดูหมิ่นต่อกันได้ง่ายขึ้น
ข้อสังเกตคือ ความผิดตามร่างฉบับใหม่นี้กำหนดให้การดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทมีโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งที่การหมิ่นประมาทในกรณีปกติ ตามประมวลกฎหมายอาญามีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
ประเด็นที่ 6 ส่งสแปม ต้องเปิดช่องให้เลิกรับบริการ มาตรา 21 ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เป็นจำนวนตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เพื่อประโยชน์ทางการค้าจนเป็นเหตุให้บุคคลอื่นเดือดร้อนรำคาญ และโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ สามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากที่กฎหมายเดิมกำหนดเพียงว่าการส่งจดหมายรบกวน หากเป็นการส่งโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มา ถือว่าผิดกฎหมาย ในร่างฉบับใหม่แก้ไขว่า หากการส่งข้อมูลเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการบอกรับได้ ทั้งนี้อัตราโทษลดลงจากเดิมที่กำหนดโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท มาเป็นจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ยังต้องตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หากการส่งข้อมูลดังกล่าว แม้จะเป็นเหตุให้บุคคลอื่นเดือดร้อนรำคาญ แต่ไม่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ทางการค้า ก็จะไม่ผิดตามร่างฉบับใหม่นี้
ประเด็นที่ 7 เก็บโปรแกรมทะลุทะลวงไว้ คุกหนึ่งปี มาตรา 23 ผู้ใดผลิต จำหน่าย จ่ายแจก ทำซ้ำ มีไว้ หรือทำให้แพร่หลายโดยประการใด ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ชุดคำสั่ง หรืออุปกรณ์ที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดตามมาตรา 15 มาตรา 16 มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 และมาตรา 20 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
น่าสังเกตว่า เพียงแค่ทำซ้ำหรือมีไว้ซึ่งโปรแกรมที่ใช้เจาะระบบ การก๊อปปี้ดาวน์โหลดไฟล์อย่างทอร์เรนท์ การดักข้อมูล การก่อกวนระบบ ก็มีความผิดจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท เรื่องนี้น่าจะกระทบต่อการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์โดยตรง
ประเด็นที่ 8 เพิ่มโทษผู้เจาะระบบ สำหรับกรณีการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ เดิมกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท ร่างกฎหมายใหม่เพิ่มเพดานโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท (เพิ่มขึ้น 4 เท่า)
ประเด็นที่ 9 ให้หน้าที่หน่วยใหม่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ร่างกฎหมายนี้กำหนดหน้าที่ให้หน่วยงานซึ่งมีชื่อว่า "สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)" เรียกโดยย่อว่า "สพธอ." และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "Electronic Transactions Development Agency (Public Organization)" เรียกโดยย่อว่า "ETDA" เป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงไอซีที
หน่วยงานนี้เพิ่งตั้งขึ้นเป็นทางการประกาศผ่าน "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิสก์ พ.ศ. 2554" เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 โดยเริ่มมีการโอนอำนาจหน้าที่และจัดทำระเบียบ สรรหาประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2554
ในร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่นี้ กำหนดให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) มีบทบาทเป็นฝ่ายเลขานุการของ "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์" ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับที่กำลังร่างนี้
นอกจากนี้ หากคดีใดที่ต้องการสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดซึ่งอยู่ในต่างประเทศ จะเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุด ในร่างกฎหมายนี้กำหนดว่า พนักงานสอบสวนอาจร้องขอให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน) เป็นผู้ประสานงานกลางให้ได้ข้อมูลมา
ประเด็นที่ 10 ตั้งคณะกรรมการ สัดส่วน 8 – 3 – 0 : รัฐตำรวจ-ผู้ทรงคุณวุฒิ-ประชาชน ร่างกฎหมายนี้เพิ่มกลไก "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์" ประกอบด้วย
- นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นรองประธานกรรมการ
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยระบุตัวบุคคลจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านกฎหมาย วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ การเงินการธนาคาร หรือสังคมศาสตร์จำนวนสามคน โดยให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี
คณะกรรมการชุดนี้ ให้ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(องค์กรมหาชน), สำนักงานกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (สังกัดกระทรวงไอซีที), สำนักคดีเทคโนโลยี (สังกัดกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม), และ กลุ่มงานตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี กองบังคับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี (บก.สสท.) (สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) เป็นเลขานุการร่วมกัน
คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ออกระเบียบ ประกาศ ตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.นี้ และมีอำนาจเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหลักฐาน รวมถึง "ปฏิบัติการอื่นใด" เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ โดยให้ถือว่าคณะกรรมการและอนุกรรมการเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://ilaw.or.th/node/857