ผู้เขียน หัวข้อ: เลือกลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นให้เหมาะกับตัวคุณ  (อ่าน 4509 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ naj

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2,449
  • Respect: +9
    • ดูรายละเอียด
    • http://www.luangphopern-hospital.com
เลือกลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นให้เหมาะกับตัวคุณ
โดย ธีรภัทร มนตรีศาสตร์,RHCE
อุปสรรคอันดับต้นๆ ที่รบกวนการเริ่มต้นเรียนรู้เกี่ยวกับระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ คงจะหนีไม่พ้นข้อสงสัยเบื้องต้นเพียงไม่กี่ข้อเท่านั้น ปัญหาหนึ่งก็คือ ลีนุกซ์มีให้เลือกเยอะแยะหลายตัว Red Hat บ้าง Ubuntu บ้าง แต่ละชื่อก็ไม่ค่อยจะคุ้นเอาเสียเลย แล้วควรจะเริ่มศึกษาตัวไหนก่อนดี บทความนี้จะช่วยให้คลายข้อสงสัยได้อย่างแน่นอนครับ
นับตั้งแต่ปี คศ. 1994 ที่เคอร์เนลลีนุกซ์เวอร์ชั่นแรกได้ถือกำเนิดขึ้นมา เป็นเรื่องน่าทึ่งที่ว่าโปรแกรมเคอร์เนลขนาดจิ๋วนี้ได้รับการพัฒนาเรื่อยมา โดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วโลกจนมาถึงวันนี้ โปรแกรมเล็กๆ นี้ได้เข้าไปเป็นหัวใจสำคัญของระบบปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพสูงและได้รับ ความนิยมในปัจจุบัน ซึ่งในอนาคตระบบปฏิบัติการลีนุกซ์นี้จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นอีกมากในโลก อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
หากพิจารณาถึงองค์ประกอบของระบบปฏิบัติการโดยทั่วไปแล้ว ลำพังเฉพาะ “เคอร์เนล” เพียงชิ้นส่วนเดียวย่อมไม่สามารถทำงานทุกอย่างได้ครบถ้วน จึงต้องอาศัยซอฟต์แวร์อื่นๆ อีกหลายส่วนเพื่อประกอบกันเป็นระบบปฏิบัติการที่สมบูรณ์ มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะปฏิบัติงานตามความต้องการของผู้ใช้งานได้ตามจุด ประสงค์ของการใช้งาน ได้แก่ การเป็นเซิร์ฟเวอร์ในระบบเครือข่าย การใช้งานเดสทอปหรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรืออาจประยุกต์ใช้งานเฉพาะด้าน เช่น การเป็นสมองกลฝังตัวในผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ส่วนประกอบต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้เคอร์เนลลีนุกซ์ทำงานเป็นระบบปฏิบัติการที่พร้อมใช้งานได้ จริง จะต้องมีโปรแกรมสนับสนุนระบบ โปรแกรมยูทิลิตี้ โปรแกรมประยุกต์ต่างๆ สำหรับงานบริการด้านต่างๆ และระบบการติดต่อกับผู้ใช้ (User Interface) รวมกันทำงานอย่างเป็นระบบ
ดังนั้นการที่จะได้มาซึ่งซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์นั้น จำเป็นต้องนำเอาซอฟต์แวร์เป็นจำนวนมากมารวบรวมกันเอาไว้เป็นชุดเดียวกัน จัดทำให้สะดวกต่อการติดตั้ง ปรับแต่ง และใช้งานโดยคนทั่วไปสามารถทำได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องใช้ความรู้ประสบการณ์เชิงเทคนิคอะไรมากมาย การเผยแพร่ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์โดยจัดทำเป็นชุดซอฟต์แวร์ “พร้อมใช้” นี้เอง เราเรียกกันว่า ลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่น ( Linux Distribution )
จุดกำเนิดของลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่น
ลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นหรือเรียกสั้นๆ กันว่า “ลีนุกซ์ดิสโทร” เกิดจากความต้องการเผยแพร่ (Distribute) ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ให้เกิดความนิยมแพร่หลายออกไป คำว่า Distribution นี้เป็นความหมายกว้างๆ ครับ มีปรากฏในทุกแวดวงสังคม ตัวอย่างเช่น วงการแฟชั่น วงการดนตรี วงการศิลปะ ก็มีกลุ่มบุคคลที่ต้องการเผยแพร่แนวคิดของตนเองออกไปสู่คนอื่นๆ ในสังคมเช่นกัน สำหรับลีนุกซ์ดิสโทร ก็คือกลุ่มบุคคลที่ต้องการเผยแพร่ให้คนอื่นๆ หันมาสนใจและนำระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ไปใช้งานกันให้แพร่หลายมากขึ้นนั่นเอง แรงเสริมที่ทำให้เกิดลีนุกซ์ดิสโทรขึ้นนั้นมีดังนี้ครับ
อันดับแรก เนื่องจากในยุคที่ลีนุกซ์เริ่มต้นใหม่ๆ นั้น ระบบอินเตอร์เน็ตยังมีความเร็วไม่มากนัก จึงไม่สะดวกเลยที่จะดาวน์โหลดเคอร์เนลลีนุกซ์และส่วนประกอบต่างๆ มาติดตั้งใช้งาน เพราะกว่าจะครบสมบูรณ์เป็นรูปเป็นร่างได้ก็ใช้เวลานานทีเดียว การจัดจำหน่ายซีดีรอมชุดติดตั้งโปรแกรมลีนุกซ์จึงเป็นหน้าที่สำคัญอันดับแรก ของลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่น
ประการที่สอง ในยุคเริ่มแรกนี้เช่นกันที่โปรแกรมต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ ยังคงอยู่ในช่วงของการพัฒนาไปตามกำลังของผู้พัฒนาโปรแกรมจากทั่วโลก ดังนั้นการนำไปใช้งานนั้นจะมีสภาพที่ค่อนข้าง “ดิบ” อยู่พอสมควร ผลงานซอฟต์แวร์ที่แจกจ่ายกันจึงอยู่ในสภาพของ โปรแกรมต้นฉบับ (source code) เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการนำไปใช้งานจะต้องผ่านขั้นตอนทางเทคนิคที่เรียกว่า “การคอมไพล์โปรแกรม” ( Program Compilation ) จึงทำให้ไม่สะดวกหรือแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างความนิยมให้เกิดขึ้นในกลุ่ม ผู้ใช้หน้าใหม่อย่างรวดเร็วตามเป้าหมายของลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่น ดังนั้นกลุ่มลีนุกซ์ดิสโทรจึงต้องเตรียมซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการของตนเองให้ อยู่ในสภาพ “พร้อมใช้” อย่างแท้จริงจึงจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้
ประการที่สาม ขั้นตอนการติดตั้งที่แสนยุ่งยากของระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ จะต้องถูกออกแบบใหม่ให้ง่ายที่สุดไม่ต่างอะไรจากการเรียกคำสั่ง Setup ในการติดตั้งวินโดวส์ รวมไปถึงการตั้งค่าต่างๆ การใช้งานและการปรับแต่งระบบ เพียงบูตด้วยแผ่นซีดีรอม คลิ๊ก Next ไปเรื่อยๆ แล้วท่านจะได้ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ที่ต้องการ พูดง่ายๆ ว่า ลีนุกซ์ดิสโทรจะต้องเป็นการทำให้การใช้งานลีนุกซ์เป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับบุคคลทั่วไปนั่นเอง
ดังนั้น ลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่น จึงเป็นกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันเป็นองค์กร มีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่ระบบปฏิบัติการที่ใช้ลีนุกซ์เป็นเคอร์เนลแก่ บุคคลทั่วไปให้เกิดการใช้งานแพร่หลาย โดยดำเนินงานภายใต้ข้อกำหนดของชุมชนโอเพ่นซอร์สและฟรีซอฟต์แวร์ ซึ่งในปัจจุบันมีลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ท่านสามารถติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นทุกรายที่มีใน โลกนี้ได้จากเว็บไซต์http://distrowatch.com
คุณลักษณะที่ดีของลีนุกซ์ดิสโทร
ลีนุกซ์ดิสโทรที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน ทำให้ยากต่อการตัดสินใจเลือกนำมาใช้ อาศัยฟังคนนั้นแนะนำ คนนี้เชิญชวน อีกคนโม้ให้ฟัง ก็ยังตัดสินใจไม่ได้อยู่ดี การกำหนดคุณลักษณะที่ดีของลีนุกซ์ดิสโทรจึงเป็นเกณฑ์ที่จะใช้พิจารณา คัดเลือกข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้อย่างมีหลักการ เราสามารถแบ่งคุณลักษณะของลีนุกซ์ดิสโทรออกได้ 5 ด้าน ดังนี้

   1. วิธีการติดตั้ง (Installation Method) ขั้นตอนการติดตั้งนั้นถือว่าเป็นด่านแรกที่จะตัดสินได้เลยว่า ลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นใดเหมาะสมกับตัวเรา มีคุณภาพเป็นอย่างไร บางดิสทริบิวชั่นมีโปรแกรมช่วยให้ขั้นตอนการติดตั้งทำได้ง่ายมาก มีคำบรรยายตลอดทุกหน้าจอ แม้แต่ผู้ที่ไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์มาก่อนก็ทำได้ด้วยตนเอง แต่บางดิสโทรกลับติดตั้งยากมากขนาดทำให้นักคอมพ์ระดับ “เซียน” กลายเป็นนักคอมพ์ระดับ “ซึม” ไปได้เลยก็มี ดังนั้นคุณสมบัติด้านการติดตั้งจะสะท้อนถึงกลุ่มเป้าหมายและเทคโนโลยีของ ลีนุกซ์ดิสโทรนั้นอย่างเห็นได้ชัด
   2. ความง่ายในการใช้งาน (Ease of using) บางดิสโทรออกแบบมาให้ใช้งานแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative) คือ เมื่อ 10 ปีก่อนเคยเป็นอย่างไรวันนี้ก็ยังคงใช้งานอย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง อาจทำให้ใช้ยากในสายตาคนรุ่นใหม่ แต่บางดิสโทรก็ใช้ง่ายมาก คลิ๊กหนึ่งได้เมล์เซิร์ฟเวอร์ คลิ๊กอีกทีได้ไฟร์วอลล์ ทั้งนี้ย่อมมีข้อดี ข้อเสีย ข้อจำกัดแตกต่างกันไป ซึ่งเราต้องพิจารณาเองว่าแค่ไหนจึงจะมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับงานของเรา
   3. ซอฟต์แวร์ที่จัดมาให้ (Bundle Software) และวิธีการสนับสนุนซอฟต์แวร์ (Supported Software) ถือว่าเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญเพราะว่า หากมีเพียงระบบปฏิบัติการคงทำงานอะไรไม่ได้จำเป็นจะต้องมีโปรแกรมใช้งาน ต่างๆ ยูทิลิตี้ช่วยอำนวยความสะดวกระหว่างการใช้งานด้วย บางลีนุกซ์ดิสโทรมาพร้อมกับซอฟต์แวร์สารพัดชนิดอัดแน่นอยู่ในแผ่นดีวีดี รวมแล้วมากกว่า 3500 โปรแกรมก็มี แต่บางดิสโทรอาจมีเพียงตัวระบบปฏิบัติการล้วนๆ ส่วนโปรแกรมใช้งานต้องไปหาเอาเองหรือมีข้อจำกัดในการติดตั้งซอฟต์แวร์เพิ่ม เติมในภายหลัง อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ การจัดการแพคเกจซอฟต์แวร์ (Software Package) ซึ่งแต่ละดิสโทรมีระบบที่แตกต่างกัน เช่น RPM ,Emerge ,Chkinstall, Deb เป็นต้น ซึ่งมีผลต่อการหาโปรแกรมต่างๆ มาใช้งานของเราในอนาคต
   4. การสนับสนุนทางเทคนิคระหว่างการใช้งาน ( Technical Support ) การให้บริการแก่ผู้ใช้งานเป็นอีกภารกิจหนึ่งของลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นที่มี ความสำคัญมาก เพราะจะสะท้อนให้เห็นคุณภาพของผลิตภัณฑ์ตัวนั้นโดยตรง การสนับสนุนนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ การสนับสนุนเชิงพาณิชย์ (Commercial Support ) หมายถึง ผู้ใช้บริการจะต้องซื้อบริการในลักษณะการลงทะเบียนผลิตภัณฑ์หรือเซ็นสัญญา รายปีกับลีนุกซ์ดิสโทรนั้นๆ จึงจะได้รับการบริการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ อีกประเภทหนึ่งคือ การสนับสนุนโดยชุมชนเอง (Community Support) หมายถึง กลุ่มผู้ใช้งานลีนุกซ์ดิสโทรนั้นต้องรวมตัวกันเอง ช่วยเหลือ เกื้อกูลกันเองในยามที่มีปัญหาการใช้งาน ซึ่งย่อมไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เกิดขึ้น แต่คุณภาพของบริการก็ไม่สามารถรับประกันได้เช่นกัน
   5. การดำเนินงานเชิงธุรกิจ (Business) ความหมายของ Business นี้ ไม่ได้หมายถึง ตัวเงินเพียงอย่างเดียวนะครับ แต่หมายถึง กลไกการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ของลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นเอง คงเป็นไปได้ยากที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดและบรรลุเป้าหมายได้ หากขาดการสนับสนุนหรือผลตอบแทนที่จะนำมาหล่อเลี้ยงให้องค์กรดำรงอยู่และขับ เคลื่อนต่อไปได้ ดังนั้นหากลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นใดก็ตามที่ไม่มี Business หรือไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ก็จะเสื่อมถอยและล้มหายไปในที่สุด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ RedHat Linux ที่นำกิจการเข้าตลาดหลักทรัพย์ มีสินค้าและบริการอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีความน่าเชื่อถือมากที่สุดในบรรดาลีนุกซ์ดิสโทรทั้งหมด ตัวอย่างที่ไม่ดีมีเยอะกว่ามากครับ ตั้งแต่ Mandrake Linux ที่ต้องขอ Donate เพื่อรักษาบริษัทไว้ Yoper Linux ผู้เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ที่มาแรงและไปไวมาก คุณคงไม่อยากเปลี่ยนดิสโทรบ่อยๆ ใช้มั๊ยครับ

บุคลิกภาพเฉพาะของลีนุกซ์ดิสโทร
คุณลักษณะทั้ง 5 ด้านของลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นนี้ น่าจะใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกลีนุกซ์ที่เหมาะกับตัวของคุณและงานของ คุณได้ อย่างไรก็ตามยังมีแง่มุมบางอย่างที่ควรนำมาประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมอีก ด้วย สิ่งนั้นก็คือ บุคลิกภาพเฉพาะของลีนุกซ์ดิสโทร
ตามที่เราพอจะเห็นภาพแล้วว่า แต่ละลีนุกซ์ดิสโทรก็คือ กลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันสร้างระบบปฏิบัติการสำเร็จรูปของตนเองขึ้น (โดยเป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้เคอร์เนลลีนุกซ์) ดังนั้นแต่ละดิสโทรย่อมมีความแตกต่างกัน มีเอกลักษณ์ของตัวผลิตภัณฑ์ แนวทางในการพัฒนาและเผยแพร่ที่แตกต่างกันออกไปตามเจตนารมณ์และศักยภาพของแต่ ละกลุ่ม เมื่อเวลาผ่านไปภาพเหล่านี้ก็ชัดเจนขึ้นจนกลายเป็น “บุกคลิกภาพเฉพาะ” ของแต่ละลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นในที่สุด
จากการที่ได้รวบรวมข้อมูลตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทำให้พอสรุปบุคลิกภาพเฉพาะของบรรดาลีนุกซ์ดิสโทรที่เป็นที่นิยมอันดับต้นๆ ได้ค่อนข้างชัดเจน ดังนี้
Slackware Linux อนุรักษ์นิยมที่สุด
Slackware Linux เป็นลีนุกซ์ดิสโทรที่เก่าแก่มากที่สุด แต่ก็ยังสามารถครองความนิยมไว้ได้ในอันดับต้นๆ อย่างเหนียวแน่น บุคลิกภาพสำคัญของ Slackware คือ “Conservative” หรืออนุรักษ์นิยมค่อนข้างมากถึงมากที่สุด สังเกตจากเว็บไซต์สีขาวดำเรียบๆ ไม่เน้นสีสรร มีรูปแบบการติดตั้งและใช้งานแบบเท็กซ์โหมดเป็นหลัก ถึงแม้จะมีระบบจัดการซอฟต์แวร์แพคเกจเป็นของตัวเองแต่การติดตั้งซอฟต์แวร์ก็ ยังมีความใกล้เคียงกับการคอมไพล์โปรแกรมเองอย่างมาก ถ้าคุณชอบสภาพแบบเดิมๆ เหมือนย้อนไปยุคเริ่มต้นของลีนุกซ์ เน้นการใช้งานแบบตรงไปตรงมา พร้อมจะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ด้วยความท้าทาย และลงมือจัดการทุกๆ ปัญหาได้ด้วยตนเองแล้วล่ะก็ ลีนุกซ์ดิสโทรเก๋าๆ อย่าง Slackware นี่แหละคือเพื่อนตายของคุณ
Mandrake Linux ติดขอบเทคโนโลยี
Mandrake Linux ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นชื่อ Mandriva Linux เป็นลีนุกซ์ดิสโทรที่มีบุคลิกที่สุดสำอาง เริ่มพัฒนามาพร้อมๆ กับ Red Hat Linux แต่มีแนวทางเป็นของตนเอง และไม่คิดตามหลังใคร มิหนำซ้ำยังหาญกล้านำเทคโนโลยีใหม่ๆ มารวมไว้ก่อนดิสโทรอื่นเสมอๆ จนทำให้มีหมายเลขเวอร์ชั่นหนีห่างจาก Red Hat ชนิดไม่เห็นฝุ่น ความที่เน้น Cutting-Edge Technology เช่นนี้มากจนเกินไป จนลืมให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจการจึงทำให้ขาดทุนและเกือบต้องเลิกกิจการ ไป หลังจากได้รับการบริจาคเงินช่วยเหลือและต่อมารวมกิจการกับ Connectiva Linux จนเป็น Mandriva Linux แล้ว ลีนุกซ์ดิสโทรนี้ก็ยังคงมีลักษณะที่เน้นการนำเสนอเทคโนโลยีล้ำหน้าคู่แข่ง เสมอมา ถ้าคุณชอบความล้ำสมัย มีสีสรร และรูปลักษณ์สวยหมดจด Mandriva Linux นี่แหละ..ใช่เลย
Red Hat / Fedora Core Linux ยึดเดินทางสายกลาง
Red Hat เป็นลีนุกซ์ดิสโทรที่มีความมั่นคงในการดำเนินงานมากที่สุด ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อย ตรงกันข้ามกลับครองความยิ่งใหญ่ในธุรกิจโอเพ่นซอร์ส จนมีการเปรียบเทียบว่า ถ้าไอบีเอ็มเป็นยักษ์สีฟ้าในวงการคอมพิวเตอร์ Red Hat ก็เป็นยักษ์สีแดงของวงการโอเพ่นซอร์ส เหตุที่ Red Hat มีสถานภาพเช่นนี้ได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีคุณลักษณะที่สมบูรณ์ครบถ้วนทั้ง 5 ด้าน ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว นอกจากนี้ผมเชื่อว่าเกิดจากบุคลิกภาพเฉพาะที่เด่นชัดของ Red Hat Linux คือ การเดินทางสายกลาง กล่าวคือ เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นRed Hat Linux จะไม่จับมาใส่ในผลิตภัณฑ์ของตนเองและรีลีสเวอร์ชั่นใหม่เร็วจนเกินไป แต่จะทิ้งระยะห่างพอสมควรจนกระทั่งแน่ใจจึงจะโปรโมตเทคโนโลยีนั้นอย่างเต็ม ตัว
Red Hat Linux มีความเป็นธุรกิจการค้าอย่างสมบูรณ์แบบตั้งแต่การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ NYSE ด้วยชื่อ Symbol ใหม่ คือ RHT ล่าสุดยังติดอันดับ Nasdaq-100 อีกต่างหาก ถ้าสำรวจดูสินค้าและบริการรวมทั้งการจัดฝึกอบรมและประกาศนียบัตรรับรองความ สามารถด้านลีนุกซ์ RHCE ที่มีศูนย์อยู่ทั่วโลก คงรับประกันความมั่งคั่งและมั่นคงของลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นนี้ได้เป็นอย่างดี
Red Hat Linux ในปัจจุบันได้แบ่งสายการพัฒนาออกเป็น 2 ส่วน คือ Red Hat Enterprise Linux (RHEL) ซึ่งเป็นสินค้า (Products) กับ Fedora Core Linux ซึ่งเป็นโครงงานพัฒนาที่ Red Hat ให้การสนับสนุน (Projects) โดย RHEL จะรีลีสรุ่นใหม่ทุกๆ ระยะเวลาประมาณ 2 ปี ส่วน Fedora Core จะมีลักษณะคล้ายงานวิจัยพัฒนาที่ชุมชนโอเพ่นซอร์สจะใช้ประโยชน์ร่วมกัน (ใช้ฟรี) จึงมีความทันสมัยกว่าและออกรุ่นใหม่ทุกๆ 6 เดือน เทคโนโลยีที่เป็นที่ยอมรับแล้วใน Fedora Core จะถูกนำไปปรับปรุงและปรากฏใน RHEL รุ่นถัดไปในที่สุด
ความแตกต่างระหว่าง RHEL กับ Fedora Core Linux ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ RHEL เป็นสินค้าที่ต้องซื้อพร้อมสิทธิ์ในการใช้งานและขอรับการสนับสนุนหลังการขาย ส่วน Fedora Core สามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ในเรื่องของประสิทธิภาพ RHEL จะมีการปรับแต่ง (Optimization) ให้ทำงานในฐานะเซิร์ฟเวอร์โดยเฉพาะในขณะที่ Fedora Core มีคุณสมบัติที่หลากหลายสำหรับงานทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นงานด้านเซิร์ฟเวอร์ เดสทอป หรือด้านมัลติมีเดีย สุดท้ายในเรื่องของการรับประกันคุณภาพ RHEL จะผ่านกระบวนการทดสอบและรับรองความสามารถ (Test and Certified) จากผลิตภัณฑ์ชั้นนำของพาร์ทเนอร์ของ Red Hat เช่น IBM ,Oracle ,Sun ,HP ว่าสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์ ในขณะที่ Fedora Core ไม่มีการรับรองดังกล่าว
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ Red Hat Linux จะเป็นลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นที่เป็นที่นิยมจากผู้ใช้งานทั่วโลก และถูกนำไปพัฒนาเป็นลีนุกซ์ดิสโทรอื่นๆ อีกหลายดิสโทร เช่น Linux TLE ,Turbo Linux ,OpenNA Linux เป็นต้น จนรูปแบบการติดตั้งและใช้งาน Red Hat Linux ได้กลายเป็นที่คุ้นเคยโดยเฉพาะในเมืองไทย ถ้าคุณต้องการใช้งานลีนุกซ์ที่มีเพื่อนร่วมวงการจำนวนมากและมีผู้พัฒนาเป็น องค์กรที่มั่นคง Red Hat Linux คือทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ณ เวลานี้
Debian Linux ความเสถียรที่ท้าให้พิสูจน์
Debian Linux เป็นองค์กรที่มุ่งพัฒนาลีนุกซ์และดำรงรักษาความเป็น Free Software ไว้อย่างเหนียวแน่นที่สุด คุณจะไม่มีทางเห็นการจำหน่าย Debian Linux ในเชิงการค้าจากองค์กรนี้อย่างเด็ดขาด ดังปรากฏใน Social Contract ในเว็บไซต์ของ Debian (http://www.debian.org) โดยที่มาของชื่อของลีนุกซ์ดิสโทรนี้มาจากผู้ก่อตั้งคือ Deb และ Ian Murdock
เช่นเดียวกับ Red Hat , Debian เป็นดิสโทรที่พัฒนาหลายสิ่งหลายอย่างให้เกิดขึ้นในวงการลีนุกซ์เป็นอย่างมาก เช่น มีระบบจัดการซอฟต์แวร์แพคเกจ ระบบการติดตั้ง และยูทิลิตี้สำคัญๆ เป็นเทคโนโลยีของตนเอง จนกลายเป็นรูปแบบการใช้งานที่เป็นอีกหนึ่งบรรทัดฐานของการใช้งานลีนุกซ์เช่น เดียวกับกลุ่ม Red Hat ได้สร้างไว้ ภาพดังกล่าวนี้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อข้อสอบ Linux Certified ของ LPI ได้แบ่งข้อสอบออกเป็น 2 ชุด คือ ข้อสอบสำหรับผู้ชำนาญ Red Hat กับข้อสอบสำหรับผู้ชำนาญ Debian ให้เลือกกันอย่างเด็ดขาดไปเลย
บุคลิกภาพเฉพาะของ Debian Linux อยู่ที่ความเสถียร (Stable) ของซอฟต์แวร์ทั้งหลายที่เป็นผลงานขององค์กรนี้ ทั้งตัวระบบปฏิบัติการเองและซอฟต์แวร์แพคเกจที่มีมากกว่า 15490 รายการ ความพิถีพิถันในการพัฒนาแก้ไขปรับปรุงซอฟต์แวร์ทุกตัวให้มีความเชื่อถือได้ มากที่สุดนี้เอง ทำให้ Debian มีรีลีสที่ Stable จริงๆ ออกมาช้ากว่าดิสโทรอื่นๆ มาก ซึ่งรุ่นล่าสุดขณะเขียนบทความนี้ คือ 3.1 เท่านั้น ในขณะที่ลีนุกซ์ดิสโทรอื่นๆ ทิ้งห่างไปถึงเวอร์ชั่น 10 กว่ากันแล้ว ไม่เพียงเท่านั้นหาก Debian ไม่ฟรีจริง ไม่ดีจริง คงไม่ถูกนำไปเป็นฐานในการพัฒนาลีนุกซ์ดิสโทรอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ได้แก่ Ubuntu ,MEPIS ,KNOPPIX ซึ่งล้วนเป็นลีนุกซ์ดิสโทรแนวหน้าทั้งสิ้น
Debian Linux จึงมีลักษณะเป็นดิสโทรพื้นฐานที่พร้อมนำไปประยุกต์ใช้งานได้อเนกประสงค์ มีรูปแบบการใช้งานแบบค่อนข้างอนุรักษ์นิยม เช่นเดียวกับ Slackware เปิดโอกาสให้คุณได้ล้วงลึกลงไปได้ทุกซอกทุกมุม ถ้าคุณชอบสวมบท “ผู้สร้าง” มากกว่าที่จะเป็นแค่ “ผู้ชม” ขอให้ดาวน์โหลด Debian Linux มาติดตั้งได้เลยครับ ต้องการเนื้อที่แค่ซีดีรอมแผ่นเดียวเท่านั้น
SuSE Linux หรูหรามีระดับ
SuSE เป็นลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นที่มีต้นกำเนิดจากประเทศเยอรมัน ดินแดนที่มีความตื่นตัวเรื่องซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สมากที่สุดในโลก การเดินทางของ SuSE นั้นยาวไกลพอๆ กับลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นที่ได้แนะนำไปแล้วทุกตัว และได้สร้างสรรค์เทคโนโลยีที่ต้องได้รับการคาราวะจากชาวลีนุกซ์มากมายหลาย ชิ้นงาน สมกับเป็นลีนุกซ์ที่มาจากศูนย์กลางเทคโนโลยีแทบทุกแขนง ได้แก่ สุดยอดระบบ Audio สำหรับลีนุกซ์ที่ชื่อว่า ALSA Project ที่ทำให้ค้นพบข้อยุติในปัญหาการใช้ระบบเสียงในลีนุกซ์ไปตลอดกาล แนวความคิดการใช้งาน ติดตั้งและคอนฟิกระบบทั้งหมดได้ด้วยเครื่องมือหลักเพียงตัวเดียวที่ชื่อว่า YaST (Yet Another Setup Tools)
ความประณีตสวยงามที่แสดงผลบนขั้นตอนติดตั้งและเดสทอปของ SuSE Linux อาจจะทำให้หลงเสน่ห์ระบบปฏิบัติการสัญชาติเยอรมันนี้ได้ทันทีที่ได้สัมผัส และด้วยคุณภาพที่เชื่อถือได้ประกอบกับเป็นระบบปฏิบัติการที่ได้รับความนิยม ในแถบยุโรป จึงทำให้ SuSE Linux ได้รับการประกาศให้เป็นระบบปฏิบัติการในหน่วยงานภาครัฐของกลุ่มประเทศยุโรป หลังจากนั้นไม่นานนัก Novell Inc. ได้เข้าซื้อกิจการของ SuSE จึงทำให้ปัจจุบัน SuSE Linux ได้กลายเป็นลีนุกซ์ดิสโทรที่เป็นมีอนาคตที่สวยงามพอๆ กับเดสทอปของตนเอง โดยมี OpenSUSE 10.2 เป็นโปรเจคสำหรับผู้ใช้ทั่วไป (Community Release) ได้ร่วมพัฒนาไปพร้อมกับ Novell
ถ้าความสวยงาม ใช้งานง่าย และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นสิ่งที่คุณต้องการแล้วล่ะก็ OpenSUSE เป็นลีนุกซ์ดิสโทรที่ตอบสนองได้ครบถ้วนที่สุด นอกจากนี้ SuSE ยังมีชื่อเสียงมากในเรื่องการสนับสนุนอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ได้อย่างยอดเยี่ยม และผลงานที่โดดเด่นน่าจับตามากที่สุดในเวลานี้คงหนีไม่พ้น AppArmor ระบบรักษาความปลอดภัยแบบ Name-based Security ที่จะมาเป็นคู่แข่งของ SELinux พูดถึง SuSE Linux ทีไรก็ทำให้นึกถึงรถยนต์หรูค่ายเยอรมันทุกที
แนวทางการเลือกลีนุกซ์ดิสโทร
คงจะพอเห็นภาพกันบ้างแล้วนะครับว่า ลีนุกซ์แต่ละดิสทริบิวชั่นนั้น ต่างก็มีบุคลิกภาพเฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป เมื่อต้องเลือกใช้งานก็ต้องพิจารณาในหลายๆ ด้านไม่ต่างอะไรกับการเลือกบ้าน เลือกรถยนต์ หรือสินค้าต่างๆ สำหรับแนวทางที่จะเลือกใช้งานลีนุกซ์นั้น อาจแบ่งได้ 3 แนวทางใหญ่ๆ ครับ

   1. ยึดตัวเราเองเป็นหลัก หลักการนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ลองทำความคุ้นเคยกับลีนุกซ์มาบ้างแล้ว โดยถือคติที่ว่า ตนเป็นที่พึงแห่งตน ถ้าเราถนัดที่จะใช้ลีนุกซ์ดิสโทรไหนก็จงฝึกฝนวิทยายุทธ์ ให้เชี่ยวชาญ ถึงใครจะว่าอย่างไรก็อย่าไปสนใจ การเปลี่ยนดิสโทรบ่อยๆ จะทำให้เราเสียเวลาไม่ใช่น้อยที่จะศึกษาลองผิดลองถูก เชื่อมั่นเถอะครับว่า ไม่ว่าจะเป็นงานด้านใดก็ตามทุกลีนุกซ์ดิสโทรทำงานได้ดีพอๆ กันทั้งหมด จะร้ายหรือดีก็อยู่ที่ตัวเราเองจะกุมบังเหียนมันได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญอยู่ที่ชั่วโมงบินของเราเองเท่านั้น
   2. เลือกดิสโทรที่สอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงาน องค์กรที่เราทำงานอยู่กำหนดนโยบายอย่างไร ผู้ดูแลระบบก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้ดูแลระบบหลายๆ ท่านทำให้ทราบนโยบายที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ไม่มีนโยบายอะไรแอดมินจะทำอย่างไรใช้อะไรก็ได้ขอให้งานสำเร็จไม่มี ปัญหาก็พอแล้ว บางหน่วยงานเข็ดขยาดกับการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ของลีนุกซ์บางดิสโทรหันไปเลือกดิสโทรที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมก็มี บางบริษัทถูกกำหนดโดยแอปพลิเคชั่นจากบริษัทแม่จากเมืองนอกมาแล้วว่าต้องใช้ ดิสโทรนี้เท่านั้น แต่ที่แน่ๆ ก็คือส่วนใหญ่จะเน้นว่าฟรีและฝ่ายเทคนิคในหน่วยงานสามารถดูแลได้เอง
   3. เลือกจากกลุ่มดิสโทรที่ใกล้เคียงกัน หลักการนี้ผู้เริ่มต้นใหม่ควรพิจารณาให้ดี เพราะถ้าสังเกตดูจากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าลีนุกซ์ดิสโทรแต่ละรายจะมี “สไตล์” หรือ “บุคลิกภาพเฉพาะ” ต่างกันไป 3-4 กลุ่ม กลุ่มแรกจะเป็นตระกูล Red Hat based ได้แก่ RHEL, Fedora Core, Mandriva และ OpenSUSE ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีโครงสร้างและวิธีการใช้งานใกล้เคียงกัน กลุ่มที่สองเป็นตระกูล Debian based ได้แก่ Debian ,Ubuntu, Knoppix เป็นกลุ่มที่นิยมเพิ่มมากขึ้นในเมืองไทย และกลุ่มสุดท้ายเป็นพวกที่มีผู้ใช้งานน้อยกว่า 2 กลุ่มแรก ได้แก่ Slackware, Gentoo, Yoper เป็นกลุ่มที่มีวิธีใช้งานแปลกแตกต่างออกไปมากแต่ก็เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการ ศึกษาในเบื้องลึกหรือใช้งานเฉพาะด้าน

เลือกลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นให้เหมาะกับตัวคุณ
เมื่อได้แนวทางอย่างคร่าวๆ แล้ว ก่อนจะฟันธงลงไปว่าจะเลือกลีนุกซ์ดิสโทรใดเป็นกระบี่คู่ใจ ก็ขอให้ย้อนกลับไปเช็คกับ “คุณลักษณะที่ดีของลีนุกซ์ดิสโทร” ที่ได้แนะนำไปแล้ว เริ่มตั้งแต่

   1. คุณสมบัติด้านการติดตั้ง มีการติดตั้งที่สะดวกสามารถปรับแต่งได้ง่ายไม่มีปัญหากับฮาร์ดแวร์ของเราและ ใช้เวลาติดตั้งอย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น Red Hat มีโปรแกรมติดตั้งแบบกราฟฟิก ส่วน Debian ใช้เวลาติดตั้งน้อยกว่ามากแต่มีหน้าจอแบบตัวอักษร (Text Mode) ที่ใช้ยากกว่า
   2. ความง่ายในการคอนฟิก อาจจะลองอ่านเอกสารคู่มือของแต่ละดิสโทรว่าค่ายไหนที่เราอ่านแล้วเข้าใจ สามารถคอนฟิกใช้งานได้ง่ายตรงตามสไตล์ของเรา เช่น Red Hat มีคู่มือในรูปแบบไฟล์ PDF ให้ดาวน์โหลดอ่านได้ฟรี ในขณะที่ SuSE มีโปรแกรม YaST ที่ช่วยในการเซ็ตค่าต่างๆ
   3. จำนวนซอฟต์แวร์ที่สนับสนุน สำรวจดูให้แน่ใจจากเว็บไซต์ของแต่ละดิสโทรว่ามีซอฟต์แวร์มากพอที่จะติดตั้ง ใช้งานภายหลังได้อย่างไม่ติดขัด เช่น Fedora Core มีโปรเจค Fedora Extras รองรับโปรแกรมแอปพลิเคชั่นที่เพิ่มเติมขึ้น ส่วน Debian มีกลไกการโหลดโปรแกรมผ่านอินเตอร์เน็ตมาติดตั้งเป็นธรรมชาติของมันเลยที เดียว
   4. การสนับสนุนทางเทคนิค การมีที่ปรึกษาเป็นเรื่องสำคัญมาก หลายๆ ดิสโทรไม่ประสบความสำเร็จเพราะหาเพื่อนร่วมทางไม่ได้นั่นเอง สำหรับในเมืองไทยถ้าโพสต์ถามเกี่ยวกับ Red Hat น่าจะได้คนมาช่วยเหลือเยอะกว่าถามเรื่อง Debian หรือ Slackware
   5. การทำธุรกิจของลีนุกซ์ดิสโทร การที่เราเลือกใช้งานลีนุกซ์ดิสโทรที่มีบริษัทใหญ่หนุนหลังย่อมอุ่นใจกว่าดิ สโทรที่เป็นองค์กรอิสระ แต่บางท่านอาจจะมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป แต่ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า ชุมชนโอเพ่นซอร์สมีวิธีที่จะคัดค้านการแปลงสภาพจาก Free Software ไปเป็น Commercial Software ดังเห็นได้จากกรณีของ Fedora Core และ OpenSUSE เป็นข้อยืนยันได้ดี

ทุกวันนี้ลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นหน้าใหม่ยังคงแจ้งเกิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อ เนื่อง มีรูปแบบและจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป รอให้เราได้ค้นหาและทดลองใช้อย่างไม่มีสิ้นสุด แต่ลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นใดจะเป็นดิสโทรที่ดีที่สุด คงไม่มีใครให้คำตอบได้ดีเท่ากับตัวคุณเอง
Yindee And Tan

ออฟไลน์ naj

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2,449
  • Respect: +9
    • ดูรายละเอียด
    • http://www.luangphopern-hospital.com
Re: เลือกลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นให้เหมาะกับตัวคุณ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 01, 2007, 23:44:40 PM »
0
ชี้ 10 จุดตาย..ระบบปฏิบัติการลินุกซ์
โดย ธีรภัทร มนตรีศาสตร์,RHCE
เราต่างทราบกันดีว่า ซอฟต์แวร์ทุกชนิดล้วนมีข้อบกพร่องให้โปรแกรมเมอร์ต้องแก้ไข ปรับปรุง พัฒนากันไม่รู้จบ โชคดีที่ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ถูกสร้างขึ้นโดยอาศัยโมเดลการพัฒนาซอฟต์แวร์ โอเพ่นซอร์ส ทำให้ได้รับการปรับปรุงแก้ไขต่อเนื่องไม่มีวันจบสิ้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามในโลกนี้ใม่มีอะไรที่จะสมบูรณ์แบบไปทั้งหมด แม้แต่ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์เองก็ยังคงมี “จุดอ่อน” ที่เมื่อสะกิดโดนเมื่อใดก็ถือเป็น “จุดตาย” ได้ทันที ด้วยการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเท่านั้นจึงจะเป็น “เกราะป้องกัน” ได้อย่างดีที่สุด
“จุดตาย” ที่ผู้เขียนนำมาเสนอนี้ มีจุดประสงค์เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ และเป็นแนวทางให้แก่ผู้สนใจ ศึกษาระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ได้นำไปวางแผนป้องกัน เพิ่มความระมัดระวังในการปฏิบัติงาน รวมไปถึงช่วยให้เข้าใจการทำงานของระบบปฏิบัติการลีนุกซ์มากยิ่งขึ้นในโอกาส ต่อไป มาเริ่มกันเลยนะครับ
จุดตายที่ 1 MBR
MBR ย่อมาจาก Master Boot Record เป็นจุดเริ่มต้นของระบบปฏิบัติการทุกชนิดที่บูตด้วยฮาร์ดดิสก์ พื้นที่ขนาดจิ๋วแค่ 512 ไบต์ที่อยู่บริเวณส่วนแรกสุดของฮาร์ดดิสก์นี้เอง เป็นที่เก็บโปรแกรมประเภท Boot Loader ไว้ สำหรับระบบปฏิบัติการลินุกซ์รุ่นปัจจุบันนิยมใช้กันก็คือโปรแกรมชื่อ GRUB นั่นเอง ซึ่งโปรแกรม GRUB นี้มีหน้าที่เริ่มต้นโหลดเคอร์เนลลินุกซ์เข้าสู่หน่วยความจำของเครื่องพีซี อันเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดของการเริ่มต้นระบบเลยก็ว่าได้
ส่วนของโปรแกรม GRUB ที่ติดตั้งอยู่ที่ MBR นี้ ไม่ใช่ตัวโปรแกรมทั้งหมด หากแต่เป็นเพียงเฉพาะส่วนหนึ่งที่เรียกกันว่า Stage 1 ของ GRUB เท่านั้น ซึ่งมันจะค้นหา Stage 1.5 ของตัวมันเองไล่ลำดับไปจนถึงเคอร์เนลในที่สุด จากความสำคัญดังกล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่าหาก MBR และ GRUB ที่ฝังอยู่ในส่วนต้นของฮาร์ดดิสก์ได้รับความเสียหายย่อมส่งผลให้ระบบไม่ สามารถทำงานได้ นั่นคือ ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ของเราจะบูตไม่ขึ้นอย่างแน่นอน และถือว่าเป็นจุดตายที่พบค่อนข้างบ่อยมากอาการหนึ่ง
แนวทางป้องกัน “จุดตายที่ 1” ทำได้โดยสำรอง MBR ไว้ในแผ่นดิสก์ โดยใช้คำสั่งหรือโปรแกรมสำเร็จรูปก็ได้ และในกรณีที่ต้องการใช้หลายระบบปฏิบัติการในเครื่องเดียวกันควรติดตั้งระบบ ปฏิบัติการวินโดวส์ “ก่อน” ลีนุกซ์เสมอ เพราะการติดตั้งวินโดวส์จะเขียนข้อมูลทับ GRUB Stage 1 ให้เสียหายได้ ส่วนการแก้ไขปัญหากรณีที่ GRUB Stage 1 โดนทำลายไปแล้ว จะต้องใช้แผ่นบูตของลีนุกซ์บูตแทนฮาร์ดดิสก์ หรือใช้เทคนิคที่เรียกว่า Linux Rescue ก็ได้เช่นกัน
จุดตายที่ 2 คอนฟิกของ GRUB
เราได้ทราบถึงความสำคัญของโปรแกรม GRUB ไปพอสมควรแล้ว และทราบแล้วว่า GRUB ไม่ได้อยู่ที่ MBR เท่านั้น แต่ยังมีส่วนประกอบอื่นๆ อีกในไดเร็คทอรี่ /boot/grub เรียกว่าเป็นคอนฟิกทั้งหมดของ GRUB ก็ได้ ในพื้นที่นี้มีไฟล์สำคัญๆ ได้แก่ grub.conf stage1 e2fs_stage1_5 และ stage2
โดยเฉพาะไฟล์ grub.conf นั้น มีรายละเอียดการทำงานระบุไว้ภายใน ทั้งยังเป็นไฟล์ข้อความธรรมดาอีกด้วย จึงมีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข จนมีผลทำให้ระบบไม่สามารถบูตได้ตามปรกติ หรือมีโอกาสที่ผู้ที่บุกรุกเข้าสู่ระบบจะทำการแก้ไขคอนฟิกเพื่อให้เคอร์เนล (ซึ่ง GRUB เป็นผู้กระตุ้นให้ทำงาน) มีการทำงานที่เอื้อต่อการเปิดช่องโหว่ขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่หายนะที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นสำหรับเซิร์ฟเวอร์ในระบบอินเตอร์เน็ต
แนวทางการป้องกัน “จุดตายที่ 2” คือ ควรใช้เซ็ต immutable bit เพื่อป้องกันการแก้ไขไฟล์โดยไม่ตั้งใจ และ ควรกำหนดพารามิเตอร์ในการเม้าต์พื้นที่นี้เป็นแบบอ่านได้เท่านั้น (Read Only) สำหรับการแบ๊คอัพคอนฟิกไว้คงไม่ต้องกล่าวให้เปลืองเวลาเพราะเป็นภารกิจปรกติ ของผู้ดูแลระบบที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
จุดตายที่ 3 เคอร์เนลและไฟล์ประกอบทั้งหมด
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เคอร์เนล คือ หัวใจสำคัญของระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ “จุดตายที่ 3” จึงตกอยู่ที่ /boot ซึ่งเป็นไดเร็คทอรี่ที่จัดเก็บไฟล์เคอร์เนลรวมทั้งไฟล์อื่นๆ ที่ร่วมกันทำงานกับเคอร์เนล โดยเฉพาะในขั้นตอนของการบูตระบบในครั้งแรกที่เปิดเครื่อง เราไม่อาจย้ายตำแหน่งที่เก็บเคอร์เนลไปที่อื่นได้ เหตุผลเนื่องมาจากข้อจำกัดของโปรแกรมประเภท Boot Loader (เช่น GRUB) จะต้องสามารถค้นหาและโหลดไฟล์เคอร์เนลได้ง่ายที่สุดนั่นเอง
ไดเร็คทอรี่ /boot จึงกลายเป็น “เป้านิ่ง” ให้ผู้ไม่หวังดีโจมตีได้ง่ายมาก โดยเฉพาะเมื่อโปรแกรมแอปพลิเคชั่นที่กำลังทำงานอยู่มีช่องโหว่ด้านความ ปลอดภัยทางเครือข่าย ประเด็นสำคัญอีกข้อก็คือ เนื่องจากไฟล์เคอร์เนลและไฟล์ประกอบทั้งหลายใน /boot นี้ไม่ใช่ไฟล์ข้อความธรรมดา การโจมตีจึงเป็นลักษณะ “เช็คบิล” ล้วนๆ คือ ทำลายให้เสียหายเท่านั้น ผลลัพธ์คือ บูตไม่ได้นั่นเอง
สำหรับแนวทางการป้องกัน ยังคงเหมือนกับ /boot/grub ที่ได้กล่าวไปแล้ว เพราะทั้งสองพื้นที่นี้อยู่ร่วมกัน การแยกเม้าต์เฉพาะ /boot และทำให้เม้าต์แบบ Read Only จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทั้งจุดตายที่ 2 และจุดตายที่ 3
จุดตายที่ 4 SELinux
SELinux ย่อมาจาก Security Enhanced Linux เป็นคุณสมบัติด้านการรักษาความปลอดภัยที่เพิ่มเติมขึ้นในเคอร์เนลลีนุกซ์ รุ่นใหม่ตั้งแต่ 2.6 ขึ้นไปก็จะมีรวมไว้เสมอ ซึ่งมีความซับซ้อนในการบริหารจัดการอยู่พอสมควร และยังถือว่าเป็นของใหม่สำหรับหลายๆ ท่านอยู่ในเวลานี้ ดังนั้นคุณสมบัตินี้จึงถูกออกแบบให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกโหมดในการทำงานและ สามารถเปิดปิดการทำงานได้ตามความต้องการ
มีข้อดีอย่างนี้แล้ว SELinux จะเป็น “จุดตายที่ 4” ได้อย่างไร ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า SELinux มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเคอร์เนลมาก คือ เป็นส่วนหนึ่งในเคอร์เนลเลยทีเดียว ดังนั้นเมื่อมีความผิดปรกติใดก็ตามเกี่ยวกับ SELinux ย่อมทำให้การทำงานของเคอร์เนลผิดปรกติไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตัวอย่างหนึ่งก็คือ ไฟล์คอนฟิกของ SELinux ที่มีปรากฏในลีนุกซ์ตระกูล Red Hat ทั้งหมด ได้แก่ Red Hat Enterprise Linux ,Fedora Core ,CentOS จะมีไฟล์ชื่อ /etc/sysconfig/selinux ซึ่งใช้ในการกำหนดการทำงานให้แก่เคอร์เนลในเรื่องเกี่ยวกับ SELinux หากไฟล์นี้ถูกแก้ไขผิดเพี้ยนไป ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ บูตไม่ขึ้นครับ อาการที่ปรากฏก็คือ ถึงกับ Kernel Panic เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นจึงใคร่ขอแนะนำว่า การที่จะไปแก้ไขคอนฟิกไฟล์โดยตรงด้วยโปรแกรมแก้ไขข้อความ ( vim หรือ nano ) เป็นทางเลือกที่ต้องระมัดระวัง หากสามารถใช้โปรแกรมคำสั่งที่กำหนดให้ใช้ก็จะปลอดภัยกว่า แต่ถ้าถนัดที่จะแก้ไขโดยตรงเองก็ต้องเพิ่มความละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น
สรุปแล้ว “จุดตายที่ 4” นี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งของสิ่งที่เราเรียกกันว่า “Admin Error” ก็คงไม่ผิด
จุดตายที่ 5 ไฟล์ธรรมดา..ที่ไม่ธรรมดา
จุดตายที่ 5 นี้ อันที่จริงยังไม่ถึงขั้นร้ายแรงนัก เรียกว่า แค่เอ๋อ..ยังไม่ถึงตาย ไฟล์คอนฟิกบางไฟล์นั้น ดูเผินๆ ก็เป็นแค่ไฟล์ธรรมดาที่คุ้นๆ กันอยู่ (ผ่านไปผ่านมา..ไม่เคยสนใจ) แต่อาจจะสร้างความผิดปรกติให้ระบบได้อย่างคาดไม่ถึง และมีอำนาจมากพอจะเปลี่ยนให้ “แอดมินผู้เชี่ยวชาญ” ให้กลายเป็น “แอดมึนผู้มืดมน” ไปได้ง่ายๆ
ยกตัวอย่างเช่นไฟล์ /etc/hosts ซึ่งเป็นไฟล์ที่มีปรากฏในโฮสต์ทุกระบบปฏิบัติการที่ทำงานกับระบบเครือข่าย TCP/IP โดยหน้าที่แล้วไฟล์นี้ใช้เก็บรายชื่อโฮสต์จับคู่กับหมายเลขไอพีไว้เท่านั้น เอง ไม่ว่าเมื่อใดก็ตามที่มีการติดต่อกับโฮสต์ต่างๆ แม้แต่การติดต่อกับโฮสต์ตัวเองก็จะต้องเปิดไฟล์นี้เพื่ออ้างอิงชื่อและหมาย เลขไอพีที่ถูกต้อง แล้วเพราะเหตุใดจึงนับว่าเป็น “จุดตาย”
ประเด็นอยู่ตรงที่โปรแกรมแอปพลิเคชั่นทุกๆ โปรแกรมที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชื่อโฮสต์ จะต้องสามารถอ้างอิงถึง “ตัวเอง” ได้ เช่น localhost หรือชื่อใดๆ ที่ตั้งขึ้นก็ตาม เพื่อให้วงจรของการสื่อสารดำเนินไปอย่างถูกต้อง ดังนั้นหากชื่อโฮสต์ของ “ตัวเอง” ที่ระบุไว้ในไฟล์นี้ ไม่ถูกต้องแล้ว ผลก็คือจะทำให้โฮสต์ของเราไม่รู้จัก “ตัวเอง” ว่าชื่ออะไรกันแน่
ผลที่เกิดขึ้นจะทำให้ระบบของเราเกิดอาการ “เอ๋อ” ได้อย่างไม่ต้องแปลกใจ เช่น โฮสต์ของเราชื่อ nomnam.example.com เมื่อได้รับอีเมล์ที่ส่งมาถึง user@nomnam.example.com โฮสต์ของเราก็ไปมองในไฟล์ /etc/hosts ปรากฏว่าระบุไว้เป็นชื่ออื่น โฮสต์ของเราก็จะปฏิเสธ (reject) อีเมล์ฉบับนั้นไปซะนี่ แทนที่จะรับไว้ให้แก่ user ซึ่งมันคงคิดไปว่า “ฉันไม่ได้ชื่อ nomnam.example.com ซะหน่อย..นี่ไม่ใช่อีเมล์ของฉัน..” เพราะฉะนั้นโปรดอย่ามองข้ามจุดเล็กๆ น้อยๆ มิฉะนั้นมันอาจกลายเป็น “จุดตาย” ขึ้นมาก็ได้
จุดตายที่ 6 เข้าเกียร์ไม่ได้..ก็จอดสนิท
ลีนุกซ์ทุกสายพันธุ์จะมีศูนย์กลางของการควบคุมการทำงานของโปรเซสที่รับ ช่วงต่อจากเคอร์เนลที่เหมือนกันหมด คือ โปรแกรม init และไฟล์คอนฟิกที่ทำงานคู่กันก็คือไฟล์ /etc/inittab เปรียบเสมือนฟันเฟืองชิ้นเล็กๆ ที่ใช้ควบคุมการส่งกำลังของรถยนต์ ไฟล์ทั้งสองนี้มีหน้าที่ควบคุมการบูตเข้าสู่การทำงานในโหมดต่างๆ ของระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ไปจนถึงการปิดเครื่องหรือการรีบูตเครื่อง ซึ่งโหมดต่างๆ เหล่านี้เราเรียกว่า Run Level โดยใช้ค่าตัวเลขในการแทนความหมาย เช่น runlevel 0 หมายถึงการปิดเครื่อง (halt) เป็นต้น
จากความสำคัญที่กล่าวมา จึงทำให้เราค้นพบ “จุดตาย” อีกจุดหนึ่ง ซึ่งโอกาสที่ /sbin/init จะถูกโจมตีในลักษณะ Rootkits ก็มีปรากฏมาแล้ว (ถูกดัดแปลงโค๊ดภายในจนกลายเป็นเครื่องมือของแฮกเกอร์) ไฟล์ /etc/inittab ที่มีสภาพเป็นไฟล์ข้อความธรรมดาย่อมถูก “รบกวน” ได้ไม่ยากเลย แม้กระทั่งความผิดพลาดของผู้ดูแลระบบเองก็ทำให้ถึงกับ “จอดสนิท” ได้เช่นกัน
ไม่เพียงเท่านั้น ภายใต้การทำงานของโปรแกรม init ยังมีไฟล์ย่อยๆ อีกจำนวนมาก ที่รวมกันทำงานเพื่อควบคุมการเริ่มต้นทำงานของระบบปฏิบัติการ คือ /etc/rc.d/rc.sysinit และ /etc/rc.d/rc ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมระบบย่อยที่เรียกว่า System Services แบบ SysV เพื่อเริ่มต้นการทำงานหรือยุติการทำงานของโปรแกรมบริการ (เช่น บรรดาเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ) ทั้งหมดในระบบอีกด้วย
หนทางป้องกัน “จุดตายที่ 6” นี้ คงหนีไม่พ้น “immutable bit” เท่านั้น เนื่องจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่ร่วมกันในเม้าต์พอยต์ “/” ทั้งสิ้น เรียกว่า One Problem One Solution จริงๆ (ไม่เช่นนั้นคงไม่เรียกว่า “จุดตาย” จริงไหมครับ)
จุดตายที่ 7 ร่างกาย..ขาดรุ่งริ่ง
โครงสร้างของทุกสรรพสิ่งในโลกของเรา เกิดจากส่วนประกอบย่อยๆ นำมาประกอบเข้าด้วยกัน การที่ระบบปฏิบัติการจะรวมกันและทำงานได้นั้น จำเป็นต้องมี “ข้อต่อ” ที่ช่วยยึดส่วนต่างๆ เช่นเดียวกัน ศูนย์กลางของการเชื่อมโยงดิสก์พาร์ทิชั่นทั้งหลายของระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ ก็คือ “จุดตาย” ที่จะกล่าวถึง ในที่นี้ก็คือไฟล์ /etc/fstab ซึ่งเป็น “ผู้ให้ข้อมูล” เกี่ยวกับการเชื่อมโยงดิสก์พาร์ทิชั่นทั้งหมดของระบบปฏิบัติการลีนุกซ์เข้า ด้วยกัน ทั้งระบบไฟล์ที่เชื่อมโยง (mount) แบบถาวร และระบบไฟล์ของอุปกรณ์ประเภทถอดเปลี่ยนได้ (Removable Data Storage)
ไฟล์ /etc/fstab เป็นไฟล์ข้อความธรรมดา จึงมีปัญหาที่คล้ายกับ “จุดตาย” อื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว มันถูกเปลี่ยนแปลงข้อความภายในได้ง่าย สิ่งที่อยู่ภายในมีความสำคัญต่อการเชื่อมโยงระบบไฟล์ทั้งหมดเข้าด้วยกัน แล้วจะมีอะไรที่ “เสี่ยง” มากไปกว่านี้อีก
ในเบื้องลึกไฟล์ /etc/fstab ไม่ได้ทำงานอย่างเอกเทศ แต่มันยังมีส่วนประกอบอื่นๆ ที่ “ยากต่อการป้องกัน” อีกด้วย ตั้งแต่โปรแกรมคำสั่ง /bin/mount ซึ่งทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงระบบไฟล์ต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยอ้างอิงข้อมูลจาก /etc/fstab อีกที แถมโบนัสความเสี่ยงด้วยการที่มีการกำหนดสิทธิแบบพิเศษเป็น SUID อีกต่างหาก ซึ่งทำให้ผู้ที่รันโปรแกรม mount นี้จะมีสิทธิ์สูงเทียบเท่า root เลยทีเดียว ลองคิดดูสิครับว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าไฟล์ mount นี้ถูกสวมรอยโดย Rootkits ...???
นอกจากนี้ในกระบวนการ mount อันเป็นสิ่งปรกติในระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ ยังมีส่วนประกอบที่คุณไม่สามารถ “ป้องกันการเขียน” (Write Protect) ได้อีกด้วย นั่นคือไฟล์ /etc/mtab ซึ่งคล้ายกับกระดาษทดที่ใช้ตลอดเวลาที่มีการ mount เกิดขึ้น ถ้าไฟล์นี้เสียหายหรือเปลี่ยนแปลงไประบบย่อมเพี้ยนไปอย่างแน่นอน
จุดตายที่ 8 แหล่งกบดาน..ของวายร้าย
ถ้าสิ่งที่กล่าวมานี้เป็นฝันร้ายแล้วล่ะก็... คุณคงจะต้องนิยามความหมายของคำว่าฝันร้ายใหม่ซะแล้ว เพราะ “จุดตาย” ที่จะชึ้ให้เห็นต่อไปนี้เป็นเสมือนแหล่งซ่อนตัวหรือกบดานของเหล่าวายร้ายที่ จะแฝงเข้ามาอาศัยในเซิร์ฟเวอร์ของเรา แล้วจากนั้นจะใช้เครื่องของเราเป็นฐานในการโจมตีผ่านเครือข่ายไปยังโฮสต์ อื่นๆ ต่อไป ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้จะคุ้นเคยกันในชื่อต่างๆ เช่น Backdoor หรือTrojans นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางที่เหล่าวายร้ายจะนำสิ่งที่เรียกว่า Shell Code มาฝังไว้ได้ โดยจะทยอยส่งโค๊ดเข้ามาทีละเล็กทีละน้อยจนกลายเป็นโปรแกรมใหญ่มากพอที่จะทำ งานได้ตามที่ต้องการ
แน่นอนว่าพื้นที่เหล่านี้จะต้องมีช่องโหว่มากพอที่ใครก็ตามสามารถ “เขียน” ข้อมูลลงไปได้ คือ มี Permission Mode เป็น w (write) ตามมาด้วย Permission Mode เป็น x (Execute) ซึ่งจะทำให้โค๊ดที่ผ่านการ “ประกอบร่าง” สำเร็จแล้วสามารถรันได้อีกด้วย
“จุดตายที่ 8” นี้ มีอยู่ทั่วไปในระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ ที่เห็นได้ชัดเจนว่ามี Permission Mode สูงพอสำหรับการ “เขียน” และการ “รัน” ( ค่าของ Permission Mode สูงประมาณ 755 ขึ้นไป) ได้แก่ /tmp ,/var/tmp และ /dev/shm ทั้งสามจุดนี้มี Permission Mode เป็น drwxrwxrwt หรือ 1777
การป้องกันทำได้โดยแยก mount point ออกไปจาก mount point “/” กำหนด option ของการเม้าต์ไม่อนุญาตให้สามารถรันโปรแกรมได้ และใช้โปรแกรมประเภท Local IDS ต่างๆ มาช่วยในการเฝ้าระวัง (ถึงแม้จะได้แค่เฝ้าระวังก็ยังดีกว่าไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง)
สิ่งสำคัญที่ต้องเตือนให้ทราบไว้ก็คือ กรุณาอย่าคิดว่าจะไปเปลี่ยน Permission Mode ของ “จุดตาย” เหล่านี้ให้น้อยลงนะครับ เพราะจะส่งผลกระทบต่อระบบและโปรแกรมต่างๆ ทำให้ทำงานผิดปรกติได้ เท่ากับไป “วางยา” ตัวเองเสียอีก
จุดตายที่ 9 ไม่ขาด..แต่เกินก็มีปัญหาได้
เป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้วว่า ถ้าส่วนประกอบของระบบสูญหายไป ย่อมทำให้ระบบทำงานไม่ได้หรือเกิดความผิดปรกติขึ้น เช่น ไฟล์คอนฟิกสำคัญหายไป หรือข้อความภายในผิดเพี้ยนไป เป็นต้น แต่ในทางกลับกัน ถ้ามีไฟล์แปลกปลอมหลงเข้าไปในระบบบ้างล่ะ จะเกิดปัญหาได้หรือไม่
“จุดตายที่ 9” นี้ เป็น พื้นที่ไดเร็คทอรี่ที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพื้นที่เก็บคอนฟิกไฟล์ของโปรแกรมต่างๆ ทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวระบบปฏิบัติการมากๆ ไปจนถึงส่วนเฉพาะโปรแกรมบริการบางโปรแกรม ที่มีข้อจำกัดในด้านการทำงานมากๆ ถ้ามีไฟล์ “ส่วนเกิน” หลงเข้าไปแล้วล่ะก็จะไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ความเปราะบางเช่นนี้พิจารณาดูดีๆ แล้ว น่าจะจัดว่าเป็น “ข้อบกพร่อง” (Bug) ของโปรแกรมก็คงไม่ผิด
ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ /etc/xinetd.d/ ที่ไดเร็คทอรี่นี้จะเป็นที่เก็บไฟล์คอนฟิกย่อยๆ ของ Xinetd ซึ่งเป็น Super Server ที่ให้บริการด้านระบบเครือข่ายต่างๆ เนื่องจากรูปแบบของไฟล์คอนฟิกย่อยๆ เหล่านี้จะต้องมีไวยกรณ์ต่างๆ ตรงตามกำหนดไว้เท่านั้น ผิดเพี้ยนแม้แต่น้อยก็จะทำให้ Super Server หรือลูกพี่ใหญ่เริ่มต้นทำงานไม่ได้เลย ดังนั้นหากมีไฟล์อะไรก็ตามหลงเข้ามาปะปนในพื้นที่นี้ การแปลความหมายก็จะเข้าใจว่าเป็นไวยกรณ์ที่ผิดปรกติ และส่งผลให้ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ในที่สุด บริการเซิร์ฟเวอร์ทั้งหลายภายใต้ Xinetd ก็พลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วยนั่นเอง
กรณีปัญหาที่เกิดจากไฟล์ “ขาดหาย” ไม่ครบตามปรกติคงเป็นปัญหาที่แสนธรรมดามากเมื่อเทียบกับปัญหาที่มีไฟล์ “เกิน” เข้ามาในระบบเช่นนี้
จุดตายที่ 10 ยังไม่ถึงตาย...แค่หายใจติดขัด
ปัญหาบางลักษณะที่เกิดขึ้นกับเซิร์ฟเวอร์ลีนุกซ์ของเรา บางครั้งจะไม่ถึงขนาดที่รุนแรงนัก เพียงแต่สร้างความไม่ปรกติให้เห็นได้ หรือส่งผลกระทบกับบางเรื่องเท่านั้น แต่ถ้าไม่เตรียมการป้องกันไว้ก็จะเกิดปัญหาขึ้นบ่อยๆ หรือหากเกิดปัญหาขึ้นก็จำเป็นต้องเร่งแก้ไขอยู่ดี ดังนั้นหากจะนับรวมเป็นอีกหนึ่ง “จุดตาย” ก็คงไม่ผิดกติกา
ตัวอย่างของอาการปัญหาประเภทนี้ ได้แก่ ปัญหาเนื้อที่ดิสก์เต็ม (Disk Full) ในบางจุด โดยเฉพาะที่พบบ่อยมากๆ คือ พื้นที่ /tmp และ /var เนื่องจากโปรแกรมบางตัวไม่มีระบบป้องกันตัวเองเมื่อพื้นที่จัดเก็บข้อมูล เกิดความขัดข้อง ทำให้ไม่สามารถบันทึกหรือเขียนข้อมูลได้ เช่น โปรแกรมประเภทเว็บที่เขียนด้วยภาษา PHP หรือโปรแกรมในกลุ่มฐานข้อมูล อาจจะออกแบบให้พักข้อมูลที่ /tmp เมื่อใดก็ตามที่พื้นที่นี้เต็มหรือไม่สามารถเขียนข้อมูลลงไปได้ ก็จะมีอาการผิดปรกติขึ้นทันที และเป็นเช่นนั้นไปจนกว่าจะได้รับการแก้ไข
ปัญหาทำนองเดียวกันนี้จะพบได้ในเรื่องของการจัดเก็บบันทึกไฟล์สถานะ หรือ Log ต่างๆ อีกด้วย เช่น พื้นที่ /var/log เกิดอาการเต็มขึ้นมาระบบจะไม่สามารถบันทึก log ต่อไปได้ อาจมีผลทำให้โปรแกรมต่างๆ หยุดทำงานได้เช่นกัน
หนทางป้องกันก็คือ ควรตรวจดูว่าแต่ละโปรแกรมที่เราใช้งานนั้นมีการพักข้อมูลที่ใดบ้าง ควรจัดสรรให้มีเนื้อที่เพียงพอต่อการทำงานของระบบและโปรแกรมต่างๆ ทั้งหมด บางโปรแกรมจะสามารถกำหนดค่าในคอนฟิกได้ว่าจะย้ายไปใช้พื้นที่อื่นๆ หรือไม่ ซึ่งมีประโยชน์มากเมื่อต้องการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง หรือขยับมิให้โปรแกรมหลายๆ โปรแกรมมาใช้พื้นที่เดียวกันมากจนเกินไป และสมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะนำโปรแกรมที่ช่วยบริหารจัดการดิสก์ ระบบจัดการเกี่ยวกับบันทึก Log File ได้แก่ Log watch ,Log Rotate และ SysLOG มาช่วยจัดการก็จะลดภาระผู้ดูแลระบบไปได้มาก
ถึงเวลา..สำรวจจุดตาย
ผู้เขียนได้ชี้ “จุดตาย” ในระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ให้ได้ทราบกันแล้วถึง 10 จุด พร้อมเสนอแนะแนวทางการป้องกัน ตลอดจนเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง ในทางปฏิบัติแล้วผู้ดูแลระบบควรตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ควรศึกษาหาความรู้ และมีกำหนดการที่จะตรวจตราดูสภาพการทำงานของระบบทั้งหมดอย่างสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้เซิร์ฟเวอร์ลีนุกซ์ของเราต้องตกอยู่ในสภาพ “เฉียดตาย” แล้วจึงจะหาทางแก้ปัญหา เพราะเมื่อถึงเวลานั้นมันอาจจะสายเกินไปแล้วก็ได้
Yindee And Tan

ออฟไลน์ somnuk

  • Jr. Member
  • **
  • กระทู้: 93
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: เลือกลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นให้เหมาะกับตัวคุณ
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กรกฎาคม 02, 2007, 08:54:47 AM »
0
ผมใช้ Slackware มาเกือบสิบปีแล้ว คงต้องร้องเพลง รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง  ;D

ตอนนี้ กำลัง ชอบ อก ชอบใจ Ubuntu 7.04 เป็นเด็กน้อยที่กำลังน่ารักเลยครับ
รพศ.ราชบุรี
เริ่มระบบ : 7 กย. 49 (MN)