สวัสดีครับ
Admin ท่านใด ได้จัดทำ ไฟล์ power point
Work Flow hosxp การไหลของข้อมูล/ขั้นตอนการทำงาน/ขั้นตอนการให้บริการ HosXP
ไว้บ้างไหมครับ
ถ้ามีขอหน่อยครับ
จะนำมาใช้ประกอบการอบรมเจ้าหน้าที่ ปีงบ 54 ครับ
ขอบคุณครับ
มีความคิดเห็นเล็ก ๆ น้อยมาฝากครับ
พอดีค้น Hosxp ผ่าน google เจอบทความหนึ่ง เลยเก็บมาฝาก
เป็นมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจดีครับ
ข้อคิดเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ในห้องตรวจคนไข้
การให้บริการสุขภาพ เป็นกระบวนการของปฏิสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ ระหว่างพยาบาลกับคนไข้ กระบวนการปฏิสัมพันธ์ที่ทรงประสิทธิภาพนี้ไม่ควรถูกคอมพิวเตอร์กับแป้นพิมพ์ แย่งชิงไป
โรงพยาบาลนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งานโดยเริ่มที่แผนกผู้ป่วยนอก และหน่วยสนับสนุนที่เกี่ยวข้องเช่น ห้องยา ห้องตรวจพิเศษต่างๆ พยาบาลหน้าห้องตรวจ
พยาบาลหน้าห้องตรวจซักประวัติคนไข้ พิมพ์ข้อมูลลงเครื่อง ส่งคนไข้ไปนั่งรอเรียกหน้าห้อง ในห้องตรวจโรค จอคอมกับแป้นพิมพ์วางอยู่บนโต๊ะตรวจ แพทย์เปิดดูประวัติคนไข้ทางหน้าจอ ตรวจร่างกาย สั่งยา แล้วพิมพ์ข้อมูลทั้งหมดลงเครื่อง
ดูๆ แล้วน่าจะดี ผ่านไปแล้ว ๒ สัปดาห์ ผลก็คือ คนทำงานเครียด คนไข้ก็เครียด
ด้วยความคาดหวังว่าคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยให้ทำงานสะดวกขึ้น ฉันพยายามอย่างเต็มกำลังในการใช้งานมันทุก function ของห้องตรวจ โดยตั้งใจว่าใช้เพื่อจะได้รู้ปัญหาและนำไปบอกให้ผู้รู้แก้ สุดท้ายฉันขอสรุปว่า
๑. โปรแกรม HosXp ไม่เหมาะสมสำหรับ work flow ของการตรวจคนไข้ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่
๒. โปรแกรมมันยุ่งยาก สับสน ใช้ยาก
๓. คนจากบริษัทติดตั้งที่เข้ามาแนะนำช่วยเหลือ ไม่ได้ช่วยให้งานง่ายขึ้น การตอบคำถาม ก็ใช้ตรรกะที่ไม่คงเส้นคงวา
๔. คนใช้มือใหม่ ขาดคนแนะนำหน้างาน โปรแกรมใช้ยาก ยิ่งทำให้ปัญหายุ่งเหยิงเข้าไปอีก
ผลก็คือ
๑. คนทำงานเครียดมาก เหนื่อยมาก การ Flow ของงานติดขัด เชื่องช้าไปหมดทุกจุด คนไข้รอตรวจที่มากอยู่แล้ว ดูจะยิ่งแน่นไปหมด จนไม่มีที่นั่ง
๒. คนไข้บ่น (ต่อหน้า) และด่า (หลับหลัง) รวมทั้งเขียนใบประเมินเข้ามามากมาย เพราะต้องรอนานทุกจุดรับบริการ
๓. โปรแกรมเมอร์ก็ยังไม่สามารถแก้ไขอะไรให้ดีขึ้นได้ แม้เราจะเห็นความตั้งใจอย่างมาก ทำงานกันอย่างหนัก เข้าใจว่าปัญหามันซับซ้อนเกินไป
ฉันเชื่อเรื่องการพัฒนางาน ชอบลองเทคโนโลยีใหม่ๆ และเชื่อว่าปัญหาอุปสรรคทั้งหลายที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ แก้ไขไปได้ แต่สำหรับการใช้คอมพิวเตอร์บนโต๊ะตรวจคนไข้ ฉันคิดว่าไม่ควรใช้
ไม่ใช่เพราะใช้ไม่เป็น ใช้ยาก ซึ่งทั้งหมดแก้ไขได้ เรียนรู้ได้ แต่เพราะไม่อยากให้มันมาแย่งเวลาไปจากคนไข้
แทนที่หมอ พยาบาลจะใช้เวลาพูดคุยกับคนไข้ กลับต้องใช้เวลากว่าครึ่งหนึ่งของเวลาที่คนไข้อยู่ตรงหน้าไปคุยกับเครื่อง จักรที่ไร้ชีวิต
การให้บริการสุขภาพ เป็นกระบวนการของปฏิสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ ระหว่างพยาบาลกับคนไข้ กระบวนการปฏิสัมพันธ์ที่ทรงประสิทธิภาพนี้ไม่ควรถูก คอมพิวเตอร์กับแป้นพิมพ์ แย่งชิงไป
คอมพิวเตอร์ในห้องตรวจทำให้หมอต้องแบ่งความสนใจไปที่แป้นพิมพ์ เพื่อพิมพ์ตัวหนังสือให้มันถูกต้อง และที่หน้าจอเพื่อดูว่าจะใส่ข้อมูลนี้เข้าไปตรงไหน ด้วยวิธีไหน
ถ้าหมอต้องไปนั่งคุยกับเครื่องคอมพิวเตอร์เสียแล้ว คนไข้จะคุยกับใคร
ฉันคุยกับคุณหมอน้องใหม่ที่ใช้คอมพิวเตอร์คล่อง ถามตรงๆ ว่าคิดอย่างไร คุณหมอตอบตรงไปตรงมาว่า เธอไม่มีปัญหาในการใช้งาน แต่ที่ต่างจากเดิมคือ “สบตาคนไข้น้อยลงค่ะ”
อีกท่านบอกว่า “ผมใช้เวลากับเครื่องมากจนเหลือเวลาคุยกับคนไข้น้อยลง”
บรรยากาศตึงเครียดทวีขึ้นทั้ง OPD ทั้งหมอ ทั้งพยาบาล ทั้งคนไข้
สำหรับฉันความสุขในการทำงานลดลง เหนื่อยและเครียดมาก และ มี ๒ เหตุการณ์ที่ทำให้หมดความอดทน
ฉันพริ้น OPD Card ไม่ออก คุณหมอท่านน้องใหม่ท่านนั้นละจากการตรวจคนไข้บนรถนอนที่ห้องสังเกตอาการติด กับห้องเรามาช่วยเหลือ ฉันได้ยินเสียงพูดจากห้องคนไข้ว่า
“รอเดี๋ยวนะแม่ หมอไปซ่อมเครื่องอยู่”
อีกวันเกือบบ่ายโมงแล้ว คนไข้คนสุดท้ายที่ฉันเรียกเข้าห้องตรวจก่อนพักไปกินข้าวเที่ยง เป็นคุณลุงอายุกว่า ๗๐ เดินช้าๆ เข้ามาที่โต๊ะหมอ พอนั่งลงแกยกมือไหว้แล้วกราบลงที่โต๊ะตรงหน้าหมอ พึมพำว่า “ขอบคุณ คุณหมอเหลือเกิน ผมมาตั้งแต่ ๗ โมงเช้าเพิ่งได้ตรวจ จะกลับบ้านตั้งหลายหน แต่ไม่มียาเหลือเลย”
คุณลุงไม่ได้ “กราบหมอ” แค่หนเดียว แกกราบซ้ำอย่างนั้นอยู่หลายหน สะท้อนความคับแค้นใจทุกข์ใจของการรอคอยที่ยาวนานของคนไข้ได้ชัดที่สุด
ที่ประชุมกรรมการ PCT (Patient Care Team) อายุรกรรมสรุปว่า เราจะหยุดใช้คอมพิวเตอร์ในห้องตรวจ และจะกลับไปใช้การตรวจแบบเดิม
ฉันทำงานมีความสุขมากขึ้น แต่ยังคงพยายามครุ่นคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะหาจุดพอดีในการใช้คอมพิวเตอร์ในห้องตรวจ
ฉันช่วยประธานPCTอายุรกรรมสรุปปัญหาและความเห็นเสนอต่อที่ประชุมกรรมการบริหารข้อหนึ่ง คือ
“ทบทวนระดับการใช้คอมพิวเตอร์ในห้องตรวจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับบริการ และเกิดความพึงพอใจทั้งต่อผู้ให้บริการ และ ผู้รับบริการ”
เราไม่ปฏิเสธคอมพิวเตอร์ แต่ต้องคิดให้ดีว่าจะเอามันมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไร
คอมพิวเตอร์ดีในแง่ช่วยเก็บข้อมูล รวบรวมเก็บในระบบ ส่งต่อข้อมูล ประมวลผลข้อมูล แต่ไม่ช่วยในกระบวนการตรวจคนไข้ ไม่ช่วยให้ข้อมูลของคนไข้สมบูรณ์ครบถ้วนถ้าหมอไม่ใส่ข้อมูล
อาจช่วยให้หมอสั่งยาได้เร็วขึ้นถ้าต้องการสั่งยาตัวเดิม แต่ความเร็วก็มีผลเสีย มองจอมากๆ ตาลายเคาะยาผิดก็ยิ่งอันตราย
เอกสารกระดาษที่ออกแบบดีๆ จัดเก็บดีๆ เปิดดูง่ายกว่า ประหยัดเวลากว่า
ฉันอยากสื่อสารไปถึงทุกท่านที่ทำงานในโรงพยาบาลและกำลังจะนำคอมพิวเตอร์มาช่วยทำงาน กรุณา
ทบทวนและศึกษาให้ถ่องแท้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนไข้เป็นประโยชน์อันดับแรก สำหรับความสะดวกในการทำงานนั้นต้องวิเคราะห์ให้ดีๆว่ามันสะดวกแน่หรือ