ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.ไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยไม่มีเงิน  (อ่าน 4133 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

doramon

  • บุคคลทั่วไป
สธ.เผย พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉินมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 6 มี.ค. 51 รพ.ไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยไม่มีเงิน

# กระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉินมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่ 6 มีนาคม 2551 โรงพยาบาล ทุกแห่งไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่มีเงิน ผู้ที่มีสิทธิ์ช่วยผู้ป่วยต้องเป็นมืออาชีพ ทั้งอาสาสมัครและผู้ประกอบวิชาชีพที่ผ่านการอบรมด้านนี้เป็นอย่างดี มีการขึ้นทะเบียนการประกอบวิชาชีพ รถพยาบาลฉุกเฉินต้องมีมาตรฐาน มีเครื่องมือแพทย์ตามที่กำหนด

นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารอุบัติเหตุ 5 ชั้น โรงพยาบาลลำปาง จังหวัดลำปาง เพื่อพัฒนาบริการช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บอุบัติเหตุทุกประเภท เมื่อเช้าวันนี้ (18 มีนาคม 2551) ว่า ปัญหาอุบัติเหตุจราจร ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล ในปี 2549 มีผู้เสียชีวิต 37,433 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 4 คน มีผู้บาดเจ็บกว่า 1 ล้านคน และทำให้มีผู้พิการรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละหลายหมื่นคน หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดีรัฐจะต้องสูญเสียเงินจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยฉุกเฉินบางส่วนไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างถูกวิธีและทันเวลา ทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิต

นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ออก พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกของไทย ที่ประกันความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน หลังบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทุกประเภทหรือเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 6 มีนาคม 2551 มีผลให้ผู้บาดเจ็บทุกประเภทหรือผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการช่วยเหลือรักษาอย่างทันท่วงที เป็นการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพมาตรฐาน หากประชาชนพบเห็นการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทุกประเภทหรือผู้ป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่หมายเลข 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

“ตามกฎหมายฉบับนี้ ผู้มีสิทธิ์ช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บ/ผู้ป่วยจะต้องเป็นมืออาชีพ ทั้งอาสาสมัครและผู้ประกอบวิชาชีพที่ผ่านการอบรมด้านนี้เป็นอย่างดี มีการขึ้นทะเบียนการประกอบวิชาชีพ รถพยาบาลฉุกเฉินต้องมีมาตรฐาน มีเครื่องมือแพทย์ตามที่กำหนด และจะไม่มีปัญหาการฮั้วผู้ป่วยหรือปฏิเสธรับผู้ป่วยที่ไม่มีเงิน โดยจะมีการออกข้อกำหนดเรื่องบทลงโทษต่อไป ทั้งนี้ มีนโยบายให้สถานพยาบาลทุกระดับ พัฒนามาตรฐานทั้งห้องฉุกเฉิน ทีมกู้ชีพ รถพยาบาลฉุกเฉิน ระบบการสื่อสาร รวมทั้งระบบส่งต่อผู้ป่วยให้มีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยในชีวิตสูงสุด” นายแพทย์ปราชญ์กล่าว

ด้านนายแพทย์ทรงวุฒิ ทรัพย์ทวีสิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำปาง กล่าวว่า อาคารศูนย์อุบัติเหตุแห่งนี้ ใช้งบก่อสร้างกว่า 209 ล้านบาท จะแล้วเสร็จในปี 2553 ได้ออกแบบเป็นพิเศษให้สามารถต้านแผ่นดินไหวได้ เนื่องจากภาคเหนือมีปัญหาแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ชั้นดาดฟ้าสามารถใช้เป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินได้ ส่วนชั้นที่ 1 เป็นห้องฉุกเฉินและศูนย์ EMS ชั้นที่ 2 เป็นห้องแล็บ ธนาคารเลือด ห้องผ่าตัด ชั้นที่ 3 เป็นห้องพิเศษ ชั้นที่ 4 เป็นหอผู้ป่วยพิเศษ ไอซียูอุบัติเหตุ ชั้นที่ 5 เป็นสำนักงานและห้องประชุม มีระบบป้องกันอัคคีภัย สร้างความปลอดภัยต่อผู้ป่วยและบุคลากร เป็นอย่างดี

ปัจจุบัน โรงพยาบาลลำปางได้พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เชื่อมโยงเครือข่ายทุกอำเภอ โดยนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์หรือจีไอเอสมาใช้ ทำให้ทีมกู้ชีพตรวจสอบจุดเกิดอุบัติเหตุหรือค้นหาที่อยู่ของผู้ป่วยได้รวดเร็ว ขณะเดียวกันยังรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรืออยู่ในภาวะวิกฤติ ที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลใกล้เคียงและโรงพยาบาลเอกชน มาดูแลรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ ปีละกว่า 20,000 ราย ในจำนวนนี้ร้อยละ 90 ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

********************************* 18 มีนาคม 2551

http://www.moph.go.th/ops/iprg/iprg_new/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=14084
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 18, 2008, 22:40:21 PM โดย doraemon(saiyok) »